หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
ประธานสงฆ์วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี

เรื่อง : เจตนาดีของครูบาอาจารย์ที่มีต่อลูกศิษย์ ครั้งที่ ๑

            พวกเราทุกคนเคยได้คบค้าสมาคมครูบาอาจารย์มาหลายท่านแล้ว ตั้งแต่สมัยท่านพ่อลี (พระวิสุทธิรังสีคัมภีร์เมธาจารย์) ซึ่งเป็นองค์ประมุของพวกเราชาวจันทบุรี ท่านได้เทศนาอบรมสั่งสอนพวกเราทั้งหลาย ตั้งแต่ขั้นต่ำ – กลาง – ที่สุด พวกเราทุกท่านก็ได้เข้าใจดีแล้ว มีอยู่อย่างเดียวพวกเราควรเสาะแสวงหาสถานที่ซึ่งประกอบด้วยสัปปายะ ๔ เพื่อประกอบเหตุเข้าไปหาผล สัปปายะ ๔ นั้น คือ : -

- ดินฟ้าอากาศก็เป็นที่สบาย
- ที่อาศัยก็เป็นที่สบาย
- บุคคลผู้อุปการะก็เป็นที่สบาย
- อาหารบริโภคก็เป็นที่สบาย


            เมื่อถึงพร้อมด้วยสถานที่เช่นนี้แล้ว พวกเราทุกท่านก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตามอย่างที่เราท่านทั้งหลายได้เห็นตัวอย่าง จากครูบาอาจารย์ที่ท่านนำพวกเรา ประพฤติปฏิบัติมาทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกกล่าวถึงกิจวัตรหรือวิธีการต่าง ๆ อันเป็นไปเพื่อการกุศล หรืออยู่ในแนวแห่งพระธรรมวินัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พูดถึงทางภายใน ได้แก่การเจริญเมตตาภาวนาหลักวิชาครูบาอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทให้พวกเราแล้ว
             เมื่อพวกเราทุกท่านได้สถานที่พร้อมทั้งหลักวิชาดีแล้ว จงตั้งใจประกอบเหตุ คือ ประพฤติปฏิบัติให้ได้คุณงามความดีอย่างครูบาอาจารย์ของพวกเราทั้งหลายที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติมา ความดีทั้งหลายที่พวกเราได้สังเกตเห็น พวกเราทุกท่านก็ได้มองเห็นคุณงามความดีของท่านเหล่านั้นอยู่แล้ว คุณงามความดีอันเป็นของภายนอกที่ปรากฏให้พวกเราทั้งหลาย ได้พิจารณาแล้วเห็นก็น่ามหัศจรรย์ พูดถึงส่วนภายในของท่านแล้วเล่า จะดีสักแค่ไหน ถ้าพวกเราพิจารณาให้ดีแล้วความดีภายในที่ท่านสะสมเอาไว้ น่าเลื่อมใสน่ามหัศจรรย์จริง
        เพราะเหตุนั้น พวกเราทุกท่านที่มองเห็นคุณงามความดีของครูบาอาจารย์ภายนอกที่เราสังเกตเห็น พร้อมทั้งได้พิสูจน์คุณงามความดีทางภายในของท่านแล้ว พวกเรามีความเลื่อมใสและต้องการอยากได้คุณงามความดีบ้าง คือ อยากจะให้เป็นไปอย่างครูบาอาจารย์นั้น เพราะเหตุนั้นพวกเราทุกท่านซึ่งเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ก็ตั้งใจหาช่องทางที่จะดำเนินตามอย่าง หรือตามความต้องการของท่าน
             ตามธรรมดาครูบาอาจารย์ที่ท่านประสิทธิ์ประสาทคุณงามความดีแก่พวกเรานั้น เจตน์จำนงประสงค์อันแท้จริงของครูบาอาจารย์นั้นก็ต้องการอยากจะให้พวกเราประพฤติปฏิบัติตาม ไม่เพียงแต่จะเอาความรู้ที่ท่านประสิทธิ์ประสาทให้ไปประดับตัว ท่านต้องการอยากจะให้พวกเราประพฤติปฏิบัติได้ด้วย เมื่อพวกเราประพฤติปฏิบัติตามศาสโนวาทที่ท่านประสาทให้แล้ว พวกเราทุกท่านก็จะได้คุณงามความดีเหมือนกับที่ตัวของท่านได้รับอยู่นั้น ถ้าพวกเราทุกท่านเป็นผู้เคารพนับถือในครูบาอาจารย์ ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์เพียงเอาไปประดับตัว ให้มีความรู้เชี่ยวชาญเข้าใจซึ้งในศาสนา เมื่อมีเจตนาเท่านี้ไม่พอ จะถือว่าเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ไม่ได้ เมื่อใดเราสนองตามเจตจำนงประสงค์ของท่านแล้ว นั่นแหละจึงจะเรียกว่าเป็นศิษย์ที่ดีหรือลูกที่ดี
            เจตจำนงประสงค์ของครูบาอาจารย์อย่างที่เล่าสู่ฟัง คือ ท่านไม่ต้องการอยากจะให้พวกเราตกไปสู่ที่ชั่ว คำว่า “ตกไปอยู่ที่ชั่ว” ก็หมายความว่าไม่อยากให้พวกเรามีอำนาจต่ำกว่าอำนาจฝ่ายต่ำ หมายความว่าไม่ให้อำนาจฝ่ายต่ำเป็นเจ้านายจิตใจของพวกเรา ท่านต้องการอยากจะให้เราเป็นเจ้านายจิตของเราเอง หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นผู้มีอำนาจของตปธรรมที่สร้างสมขึ้นมา เพื่อคุ้มครองจิตของเรา พยายามบังคับอำนาจฝ่ายต่ำไม่ให้เข้ามายั่วยวนให้จิตของเรา ไม่ให้หลงไหลไปตามอาการของสิ่งกระทบหรือสิ่งยั่วยวนนั้น เจตนาของครูบาอาจารย์ก็มีอยู่อย่างนี้
            ทีนี้พวกเราที่ต้องการอยากจะเป็นลูกศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์นั้น พวกเราทุกท่านก็ต้องออกแสวงหาสถานที่ดังกล่าวมานี้ แล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่าลดละประมาท คุณงามความดีใดที่พวกเรามีความสามารถจะทำให้เกิดมีขึ้นในตัวของพวกเรา จะประกอบให้รีบประกอบขวนขวาย เมื่อใดเรามีโอกาสเหมาะสมที่จะบำเพ็ญส่วนมหากุศล เกี่ยวแก่การดำเนินในทางสมาธิ พวกเราก็หาช่องทางรีบเร่งดำเนินในทางสมาธิให้เป็นไป อันนี้พวกเราทุกท่านซึ่งมาอยู่ ณ สถานที่นี้พวกเราก็ได้มีเจตน์จำนงประสงค์หรือเจตนาอันดีแล้วตั้งแต่บ้าน พวกเรามีเจตนาดีแล้วจึงได้ยอมเสียสละมาสู่สถานที่นี้ เมื่อพวกเรามีเจตนาอันดีแล้ว จงรักษาเจตนาอันนั้นอย่าให้ตกไป คำที่ว่า “รักษาเจตนาอันนั้นไว้ไม่ให้ตกไป” นั้นก็คือ พวกเรามุ่งจะมาปฏิบัติแสวงหากุศล พวกเราก็ต้องหาช่องทางดำเนินให้เป็นไปตามเจตนาเดิม อย่างนี้เรียกว่าผู้รักษาเจตนานั้นไว้ไม่ให้ตกไป ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พวกเราทุกท่านควรหาช่องทางเสีย พยายามดำเนินรีบเร่งในทางสมาธิจิตให้มาก
            คำว่า “สมาธิ” ก็หมายถึงพวกเราผู้ดำเนินให้ตั้งจิตไว้ให้มั่น คำว่าตั้งจิตไว้มั่นหรือไว้ชอบ หมายความว่า พวกเราตั้งจิตเอาไว้เพื่อต่อสู้กับเหตุการณ์ในสิ่งที่จะยั่วยวนให้จิตของเราเป็นไปโดยธรรมชาติ อย่างที่เคยเป็นมานั้น คำว่า “เป็นไปโดยธรรมชาติ” พวกเราก็คงจะเข้าใจอาการของจิตมันจะต้องหันเหไปตามอารมณ์หรือสิ่งกระทบ โดยธรรมชาติมันอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่พวกเราผู้ปฏิบัติได้พากันหาช่องทางสร้างตปธรรม คือ อำนาจจิตคุ้มครองได้แก่สติ คุ้มครองจิตของพวกเราไม่ให้เป็นไปโดยธรรมชาติ ถึงแม้อาการของจิตจะไหวตัวโดยไม่มีสิ่งกระทบ พวกเราก็ต้องพิจารณาอาการที่ไหวตัวอย่างนี้ จุดเจตนาที่ไหวตัวไปนี้ มันมีเจตนาอย่างไร และการที่ตกไปอย่างนี้ มันจะมีผลเสียอย่างไร จะให้ความทุกข์อย่างไร จะเป็นไปเพื่อความสะอาดหมดจด หรือจะเป็นไปเพื่อมลทินโทษ เราต้องพิจารณาเสียก่อน เมื่อเราพิจารณาแล้ว ในเมื่อสิ่งใดเห็นว่าเป็นไปเพื่อมลทินโทษ ต้องหักห้ามจิตของเราไม่ให้ลุ่มหลง ไม่ให้เป็นไปตามอาการนั้น เมื่อหากมันไหวตัวเข้าสู่กระแสที่จะเป็นไปเพื่อสะอาดหมดจด พวกเราต้องพยายามดำเนินตาให้สำเร็จลุล่วงไป เมื่อพวกเราดำเนินกระทำอยู่อย่างนี้เสมอ ก็เรียกว่าผู้หาช่องทางดำเนินตัวของเราเข้าไปสู่ความสะอาด ความหมดจด
            พูดถึงสิ่งกระทบภายนอกก็เหมือนกัน อาการที่กระทบ เมื่อกระทบปุ๊บ เราต้องมีสติยับยั้งจิตของเราไว้ก่อน เมื่อเรายับยั้งจิตของเราไว้แล้ว เราพิจารณาในสิ่งกระทบนี้ เมื่อพวกเราปล่อยให้เป็นไปตามอาการอย่างนี้ จะให้โทษหรือให้คุณ เราต้องพิจารณาอย่างนี้เสมอ ๆ ถึงแม่เขาจะด่าเราก็ดี เขาชมเราก็ดี เราอย่าไปมองเหตุการณ์ เราต้องดูที่จิต จิตของเรามีอาการไหวตัวไปตามเหตุการณ์ไหม หรือหากจะมีความรู้ชนิดหนึ่งขึ้นมากันจิตของเราไม่ให้จิตเป็นไปตามอการ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายย่อมทำอย่างนี้ ถ้าพวกเราไม่สังเกตอาการไหวตัวของจิตของพวกเราอยู่เสมอแล้ว พวกเราก็จะไม่รู้ว่าจิตของเราที่ไหวตัวไปอย่างนี้ อาการไหวตัวของจิตอย่างนี้เรียกว่า อาการของจิตแสดงต่อภพ สิ่งที่ยั่วยวนทั้งหลายที่เป็นไปโดยธรรมชาติเรียกว่าอาการของภพยั่วยวนจิต เมื่อจิตหากไหวตัวไปตามธรรมชาติ ก็เรียกว่าจิตแสดงต่อภพ
             เมื่อพวกเราหาช่องทางป้องกัน โดยตั้งสติยับยั้งจิตของเราเป็นปฐมอยู่อย่างนี้เสมอแล้ว ต่อไปข้างหน้าอาการที่จะไหวตัวไปต่อสิ่งกระทบอย่างนั้น ย่อมเป็นอันว่าไม่มี มีแต่ความรู้ชนิดหนึ่งวิ่งขึ้นมา ว่าในเมื่อเรากระทบสิ่งอันนี้ เมื่อจิตของเราเป็นไปตามสิ่งเห่อเหิม ตามอาการเหล่านี้ ย่อมจะให้คุณอย่างนี้หรือโทษอย่างนี้ ความรู้ชนิดนี้จะเกิดขึ้นอย่างว่องไว ปัญญาชนิดนี้เรียกว่า “ชวนะปัญญา” สติที่เฉลียวถึงอาการอย่างนี้เรียกว่า “ชวนะสติ” คือปัญญาและสติที่ว่องไว เพราะฉะนั้นเมื่อเราดำเนินมาถึงอาการอย่างนี้ พวกเราที่ปฏิบัติทั้งหลาย จะมองเห็นคุณค่าของการปฏิบัติที่ชัดที่สุดเลย
            เพราะเหตุนั้น พวกเราผู้ปฏิบัติทั้งหลาย จงพยายามสร้างสติ คือ ตัวระลึกรู้ไว้ให้มาก เพื่อจะได้ระลึกรู้ไว้ให้มาก เพื่อจะได้ระลึกรู้อาการทั้งภายในและภายนอก เมื่อบุคคลผู้ดำเนินหรือสร้างสตินี้มากขึ้นเท่าใดแล้ว ยิ่งมีคุณค่ามาก ถึงแม้ภายนอกพวกเราท่านทั้งหลายคงจะมองเห็นบุคคลผู้มีสติอยู่เสมอ อาการทั้งหมดเขามีสติคุ้มครอง ถึงแม้จะนั่ง จะลุก จะเดิน จะเหิน อยู่ฉัน ลิ้มเลีย อะไรต่าง ๆ เมื่อมองดูแล้วรู้สึกว่าสวยงาม เมื่อบุคคลผู้ไม่มีสติอาการเดินเหินลุกขึ้นยืนรับอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อมองดูแล้วพวกเราก็จะมีช่องตำหนิได้ จะมองเห็นเป็นสิ่งไม่สวย นี่พูดถึงอาการภายนอก เมื่อพูดเข้าไปถึงภายในแล้ว เมื่อบุคคลผู้มีสติยับยั้งจิตของตนเองไว้ไม่ให้เป็นไปตามอาการนั้น ย่อมมีค่าอย่างที่พรรณนาไม่มีสิ้นสุด
            เพราะเหตุนั้น พวกเราจงพยายามสร้างสติไว้ให้มาก จะลุกขึ้นก็อย่าลุกโดยธรรมชาติ จะนั่งลงก็อย่างนั่งให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถึงแม้จะพูดกับบุคคลก็ต้องพิจารณาก่อนว่าบุคคลที่เราจะพูดด้วยนี้ เขาจะฟังคำพูดของเราขนาดไหนได้ เราต้องพยายามพูดกับบุคคลผู้นั้นให้พอเหมาะพอดี คำพูดที่พูดออกไปนั้นก็ต้องพิจารณาอีกว่าบุคคลผู้นี้เอ่ยขึ้นถึงเรื่องนี้ เมื่อเราต่อเรื่องนี้จะมีค่าไหม จะเสียหายไหม อะไรเหล่านี้ ต้องพิจารณาก่อน ในเมื่อคำพูดที่เราปล่อยออกไปหรือต่อคำพูดของบุคคลผู้เอ่ยขึ้นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระย่อมจะให้โทษ ถึงแม้จะไม่ให้โทษก็จะทำให้จิตของเราชิน เพราะฉะนั้นอาการที่จิตของเราจะเป็นไปอย่างนั้น เราอย่ายอม ต้องพยายามบังคับไว้ เมื่อเราพยายามทำอยู่อย่างนี้ จิตของเราก็จะเคยในอาการอย่างนี้ เพราะจิตของพวกเราในเมื่อเราอบรมในทางดี มันจะรั่วไหลหรือนึกคิดในทางที่ทีเป็นประจำ ในเมื่อเราอบรมในทางที่ชั่ว หรือฝึกฝนในทางที่ชั่ว มันก็จะคิดไปในทางที่ชั่ว
            อย่าว่าแต่เพียงจิตของเราเลย ถึงแม้ธาตุภายนอกก็เหมือนกัน เมื่อเราฝึกฝนให้เป็นไปในทางที่ไม่ฝ่าฝืนจนเกินไป มันก็ย่อมจะติดหรือย่อมจะชิน พวกเราจะมองเห็นได้ในการฉันท์หมาก สูบบุหรี่ อะไรเหล่านี้ ในเบื้องต้นรู้สึกว่าฉันท์หมากมันไม่ค่อยจะดี มันเผ็ด มันเฝื่อน ปูนก็กัดปาก อะไรเหล่านี้ เป็นต้น เมื่อนาน ๆ เข้ามันชิน เลิกไม่ได้ จะต้องเติมให้มันอยู่อย่างนั้น สูบบุหรี่ก็เหมือนกัน ดูซิ แม้แต่อาการภายนอกมันก็เป็นเช่นนี้ นี้พูดถึงรูปธาตุภายนอก พูดถึงจิตใจก็เหมือนกัน ถ้าเราฝึกให้มันคิดแต่ในทางที่ดีหาช่องทางดำเนินอย่างนี้ ๆ จนมันชินแล้ว อาการอย่างนั้นก็กลายเป็น “ชวนะ” ไปหมด จิตก็คุ้นเคยในอาการอย่างนั้น
เพราะเหตุนั้น พวกเราทุกท่านผู้ที่ต้องการจะฝึกฝนจิตของตนให้พอใจในทางที่ดี ให้ครุ่นคิดในทางที่ดี ดำเนินในทางทีเป็นประโยชน์ พวกเราต้องพยายาม แต่การฝึกจิตของเราให้เป็นไปในทางที่มีประโยชน์ มันจะต้องลำบากมาก แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ถ้าหากว่าเหลือวิสัย พระอริยเจ้าผู้สำเร็จตามพระองค์ย่อมไม่มี แต่นี่ยังมีพระอริยเจ้าทั้งฝ่ายบุรุษและสตรี เป็นผู้สำเร็จมรรคผล หรือสามารถบังคับจิตของตนเองให้สะอาดหมดจดปราศจากมลทินโทษ คือไม่ให้จิตตกไปสู่อำนาจฝ่ายต่ำ สิ่งที่ยั่วยวนฝ่ายต่ำ ท่านหาช่องทางปฏิวัติบังคับจิตของท่านให้อยู่ในอำนาจของตปธรรม กำจัดสิ่งยั่วยวนทั้งหลายเหล่านั้นออก อาการที่ทำได้อย่างนี้ย่อมมีอยู่ในท่านทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อท่านทั้งหลายเหล่านั้นสามารถทำได้อย่างนั้น พวกเราต้องทำจริง ๆ อย่าทำเล่น พากันพยายามดำเนินอย่างที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ได้นำพาพวกเรากระทำตามที่พวกเราได้เห็นมา ได้รู้มา ได้ยินมา เมื่อพวกเราดำเนินตามตัวอย่างหลักวิชาที่ครูบาอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทให้แล้ว คือ อย่างที่ท่านพ่อลี หรือครูบาอาจารย์อื่น ๆ ที่พวกเราได้สดับรับฟังมาแล้วนั้น พวกเราทุกท่านดำเนินไปก็ได้รับผลดีอย่างครูบาอาจารย์ของพวกเราโดยไม่ต้องสงสัย
            วันนี้ อธิบายย่อ ๆ สู่กันฟังพอสมควร ในที่สุดยุติลงแห่งการกล่าวสัมโทนียกถา อาตมาภาพขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัยแก้ว ๓ ประการ มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จงมาดลบันดาลให้พวกเราทุกท่านที่มีเจตนาดีมาเสาะแสวงหาสถานที่อันพร้อมด้วยสัปปายะ ๔ เพื่อต้องการจะดำเนินตามหลักวิชาที่ได้รับจากครูบาอาจารย์ที่ท่านประสาทให้ เพื่อการจะดำเนินไปสู่ความสะอาดหมดจด ความปรารถนาอันนี้พวกเรามีอยู่แล้ว ด้วยอำนาจของคุณพระศรีรัตนตรัย จงมาดลบันดาลให้พวกเราทุกท่านจงสมเจตนา ทุกประการ เทอญฯ

 
หน้าแรกธรรมะ
กระดานข่าว
ลงสมุดเยี่ยม
อ่านสมุดเยี่ยม
ผู้เขียน


เชื่อมโยงกัลยานิมิตร >>
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว / สมเด็จพระมหาสมณเจ้า / พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร / พุทธประวัติ, พุทธโอวาท / ธรรมะพุทธองค์ / พุทธศิลป์ โดย อ.เฉลิมชัย / ธรรมะจากพระป่า / กองทัพธรรมพระกัมมัฏฐาน / ประวัติหลวงปู่มั่น / หลวงตามหาบัวช่วยชาติ / จังหวัดจันทบุรี / อำเภอนายายอาม / รอยยิ้มของพ่อ

เหมาะสำหรับจอภาพที่แสดงผลที่ 800 x 600 และเพื่อความสวยงามยิ่งขึ้นหากแสดงผลที่ 1024 x 768 (Microsoft Internet Explorer)
วัดเขาสุกิม
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2543

พัฒนาและออกแบบโดย นายทวีศักดิ์ รัตนคม    
ติดต่อสอบถามได้ที่ webmaster@khaosukim.org   
และทาง msn ได้ที่ hs2wjo@hotmail.com