หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
ประธานสงฆ์วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี
เรื่อง : การเดินสมาธิจิตทางสัมมาสมาธิ

             การหักห้ามจิตคือ การหักห้ามความรู้สึกของเรา ความรู้สึกของเราที่มีต่อสิ่งกระทบ คือ เหตุการณ์ที่จะชวนให้เราเกลียด โกรธ รัก ชอบ ต้องการ ไม่ต้องการ จะชวนให้เราหัวเราะ ร้องไห้ ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ การหักห้ามเราก็ไม่ได้ไปหักห้ามที่ตรงไหน ก็หักห้ามตรงที่ความรู้สึกนี่แหละ เราจะไปบำรุงตรงความรู้สึกนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการบำเพ็ญจึงไม่ได้มองจิตเป็นตัว ให้มองเห็นจิตให้ชัดว่า มันจะน้อมเอียงไปในทางให้โทษหรือคุณ หากเมื่อประกอบด้วยโทษเราก็จะได้หักห้าม เมื่อประกอบด้วยคุณเราก็จะได้ส่งเสริม โดยจุดประสงค์แล้วมีเพียงแค่นี้ เพราะฉะนั้นจึงขอเตือนบรรดาผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ขอจงดำเนินให้เป็นไปตามรู้นี้เถอะ ถ้าเราดำเนินให้เป็นไปตามรูปนี้ตรงกับเจตนาของผู้แนะนำ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่ตรงกับเจตนา
     ทีนี้ถ้าเราเข้าใจว่าอย่างนี้เป็นเหตุเบื้องต้นแล้ว เราจะได้ต่อไปว่าความรู้สึกของจิตที่รู้สึกต่อสิ่งกระทบที่เป็นปัจจุบันเหตุ ที่กำลังปรากฎอยู่ก็ดี หรือความรู้สึกของจิตที่นึกตรึกถึงอารมณ์หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วแต่อดีต เกิดมีความรู้สึกขึ้นมาอย่างไรบ้าง เราจะใช้กำลังตัวอริยมัคคุเทศก์ หรือสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมานี้สอดส่องพิจารณาให้เห็นว่า ความรู้สึกอย่างนี้เป็นไปเพื่อความเศร้าหมอง ความรู้สึกอย่างนี้เป็นไปเพื่อความสะอาดหมดจด อยู่ในระบบของธรรม และความรู้สึกอย่างนี้ เป็นอุบายวิธีหรือปัญญาของกิเลส ที่จะนำจิตเข้าไปเชื่อมโยงต่อภพชาติ หรือเป็นการทอดสะพานหาภพชาติ ขอให้เราพยายามตั้งสติปัญญาคอยสังเกตุความเคลื่อนไหวของจิตนี้อยู่เสมอ อย่าเผลอ อย่าประมาท เพราะอุบายของจิตที่จะนำพาเราเข้าไปสู่ภพนี้ ถ้าเราไม่มีสติปัญญาที่เรียกว่าอริยมัคคุเทศก์ที่เราสร้างขึ้นมาให้พอกับความต้องการแล้ว หรือให้มีอำนาจเหนือจิตแล้ว มักจะเข้าข้างมันเสมอ อุบายมันลึกลับนัก บางทีเรานั่งสมาธิกันนาน ๆ กิเลสมันก็หาอุบายแล้วว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้มันมีอันนั้น มีอันนี้จะต้องทำ นอนเถอะ ๆ เดี๋ยวพรุ่งนี้อาจจะทำงานไม่ได้ จะง่วงนอนสัปหงกอะไรต่ออะไรก็แล้วแต่ อุบายอันลึกลับต่าง ๆ ที่ว่านี้ไม่ใช้ปัญญาญาณ “เป็นอุบายของกิเลส” ถ้าเราเกิดไปหลงไหลตามมันแล้ว เป็นอันว่าเราจะต้องวิ่งตามหลังมันเสมอ ไม่มีทางที่จะออกก่อนมันได้ เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามดูให้ดี ๆ อุบายต่าง ๆ อย่างอื่นอีกที่มันจะหาอุบายให้เราตามหลังมันนี้มีมากมายหลายอย่าง เช่น บางผู้บางคนนั่งไป ๆ ก็เกิดนึกว่าเรานี้ดูเหมือนจะไม่มีวาสนาเป็นอริยบุคคลได้แล้ว บุญน้อยวาสนาน้อย อาภัพบุคคลแล้ว อะไรเหล่านี้ ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม หันไปสร้างบารมีอย่างอื่นเสียเถอะ หรือถอยหลังกลับบ้านเสียเถอะ ความรู้สึกอย่างนี้ไม่ใช่ปัญญาญาณ ความรู้สึกดังกล่าวนี้เป็นปัญญาของกิเลส มันหาอุบายวิธีจะผูกมัดเราให้ติดอยู่ในโลก ถ้าเราเข้าข้างมันเมื่อไรก็เป็นอันว่าเราวิ่งตามหลังมัน เชื่อมัน หลงภาพมัน อย่างนี้จึงจะเป็นเหตุให้เราไม่มีโอกาสที่จะทำลายซึ่งภพชาติของจิตได้เช่นเดียวกัน หรือบางคนที่มีลูกหลานทำไปทำไป ก็นึกถึงหลานว่าเขาจะเป็นอย่างไรหนอ เขาจะอยู่สบายดีหรือเปล่า หรือจะเจ็บป่วย เขาจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันหรือไม่ หรือมีความสามัคคี แล้วมันก็หาอุบายวิธีหลบชวนให้กลับบ้านเสียเถอะ ออกพรรษาแล้ว ถ้าเราไปหลงเชื่อตามมัน เราก็จะต้องวิ่งตามหลังมันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมันคอยหาโอกาสที่จะหลอกลวงเราให้ลุ่มหลงเป็นไปตามอำนาจของมัน ถ้าเผลอยอมวิ่งตามหลังมันแล้วจะไม่มีที่สิ้นสุด ยกรูปเปรียบคล้ายกันกับม้า ม้ามันวิ่งเร็ว ถ้าเราวิ่งตามหลังมัน เราก็ไม่มีทางที่จะวิ่งทันมันได้ มันก็ไปของมันเรื่อย ๆ เตลิดเปิดเปิง เมื่อไรถ้าเราสามารถขึ้นหลังมันได้ และจับบังเทียนของมันได้แล้ว เราจะบังคับให้มันไปทางไหนก็ยังพอไปได้ แต่ถ้าเรายังขึ้นหลังไม่ได้ เราก็ไม่สามารถที่จะบังคับให้มันไปตามเส้นทางที่เราต้องการได้ แล้วก็อย่าหวังเลยว่าเราจะวิ่งตามหลังมันมัน “เรื่องปัญญากิเลสนั้นมันลึกลับเหมือนกัน” คิดดูซิ คนที่ปัญญาทางโลก ถึงแม้ว่าเขาจะคิดเรื่องอะไรจิปาถะ ซึ่งเรามองเห็นแล้วว่าเขาคิดดีเป็นเลิศ ปัญญาโลกีย์แบบนั้นก็ไม่มีทางเหนือกิเลสไปได้ เพราะเหตุไร ก็เพราะว่าปัญญาของกิเลสมันเหนือกว่านั้นไปอีก จึงเป็นเหตุให้ผูกมัดสัตว์ หรือมนุษย์ให้จมติดอยู่ในโลก มีภพ มีชาติ อยู่ได้ ก็เพราะปัญญาของมันดีกว่าเหนือกว่าปัญญาโลกีย์ชนธรรมดา มันลึกลับมากถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจว่าปัญญาของกิเลสนี้ฉลาดมาก เราจึงต้องพยายามตั้งสติปัญญาคอยพยายามดักจ้องดูให้ดี ๆ เราอย่าไปเข้าข้างมัน อย่างไปหลงภาพที่มันหลอน เพราะมันจะทำให้เราวิ่งตามันไม่มีที่สิ้นสุดดังกล่าว เราต้องพยายามดักสังเกต ถ้ามีความรู้สึกเกิดขึ้นมาในรูปนี่คือสายใจของภพชาติใช่หรือไม่ มันเกิดมาอย่างนี้ทำให้เราเกิดปฏิฆะความคับแค้นใจหรือไม่ เราต้องใช้บทวิจารณ์และทบทวนเสมอ เมื่อมองเห็นว่าเป็นไปเพื่อความเศร้าหมองเป็นไปเพื่อความต่อภพของจิต เป็นอารมณ์ของโลกธรรมดา ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เราเกิดมาแล้วแต่ก่อน จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ตัวนี้เอง เราก็ต้องตัดทันทีเลย เราอย่าไปเข้าข้างมัน อย่าไปไว้หน้ามัน ไม่เอา ฉันไม่ได้มุ่งหวังที่จะดำเนินให้เป็นไปในรูปนี้ อันนี้มันเป็นสายใจของภพ นำพาเราให้ได้รับความทุกข์ ไม่มีที่สิ้นสุด ก็เพราะความรู้สึกอันนี้เอง เราก็ต้องทำลายเสียหมายความว่าระบบแบบนี้ เราไม่ชอบตัดทิ้ง เรียกว่ระบบเก่า
          ส่วนระบบใหม่ ความรู้สึกใดโน้มเอียงเข้าไปทางธรรม เป็นไปเพื่อความเจริญด้านธรรม ส่วนด้านจิตใจก็เป็นไปเพื่อความสะอาดหมดจดเป็นไปเพื่อเอาชนะกับความรู้สึกว่ากิเลส ๆ ความรู้สึกดังกล่าวนี้คึกคักขึ้นมา ต้องส่งเสริมหรือประคองรักษาไว้ให้คงที่ อย่าให้เสื่อม อย่าให้ถอย ถ้าเราทำได้อย่างนี้มีหวังว่าคนที่วิ่งออกก่อนเรานี้ไม่มีโอกาสที่จะแซงหน้าเราได้ เรามีโอกาสที่เรียกว่าจะขึ้นหลังมันแล้ว บังคับมันให้เดินไปตามเส้นทางที่เราต้องการ เราจะไปไหนก็บังคับมันไปได้
          เพราะฉะนั้นผู้บำเพ็ญทั้งหลายจงเข้าใจเถอะว่า ปัญญาของกิเลสมันละเอียดมาก สุขุมมาก มันสามารถหลอกหลอนคนและสัตว์ให้มีภพชาติวกวนอยู่ในโลก ผู้ที่อวดตนว่ามีปัญญาสักแค่ไหนก็ตาม หากในเมื่อยังมีภพ มีชาติ มีการหมุนเวียนเกิด ๆ ตาย ๆ อยู่แล้วก็แสดงให้เห็นว่ายังไม่เหนือกิเลสหรอก ยังโง่อยู่ หากผู้ทำลายความรูสึกอันที่จะต่อภพ ต่อชาติ ที่ทำให้เราได้รับความทุกข์นี้ได้ ผู้นั้นจึงจะเรียกว่าผู้ฉลาด ฉลาดอยู่เหนือจิตตัวเอง ฉลาดเหนือกิเลส ไม่มีทางที่จะให้จิตของเราเข้าไปสู่ระบบของกิเลสได้ ประคองจิตของตัวให้เข้าสู่ระบบของธรรม เป็นความเจริญงอกงามเรื่อยไป ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพวกเราผู้ประพฤติปฏิบัติ ขอให้เข้าใจว่ากิเลสมันละเอียดมาก ความรู้สึกของจิตที่โน้มเอียงไปสู่ระบบต่าง ๆ ทั้งทางด้านกิเลส และด้านธรรมะ ผลของสมาธินี้รู้สึกว่าผลจะปราฎให้ผู้ที่เป็นเจ้าของสมาธิที่ทำได้นี้ จะเปลี่ยนหน้ากันเสมอเหมือนกัน รสชาติจะต้องเปลี่ยนไปไม่มีที่สิ้นสุด เราลองนึกดูก็ได้ เรานึกถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงดื่มด่ำอยู่ในธรรม จนกระทั่งอายุขัยของพระองค์ พร้อมทั้งสาวกทั้งหลายของพระองค์ด้วย ก็เช่นเดียวกันไม่มีใครถอนหลังออกมาเลย ก็เพราะเหตุไร “ก็เพราะคุณค่าของสมาธิจิตนี้ดีมาก วิเศษจริง ๆ” รสชาติดีเลิศจริง ๆ สิ่งที่เรารู้เห็นก็เป็นสิ่งที่แปลกมาก เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดสามารถดำเนินเข้าไปสู่ธรรมได้ ท่านเรียกว่า “อัจฉริยมนุษย์” ไม่ใช่มนุษย์อัศจรรย์ธรรมดา ๆ
          โลกียชนธรรมดาสามารถคิดเรื่องอะไรต่าง ๆ หรือดำเนินสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ ในเมื่อคนอื่นทำได้ยาก หรืออาจจะไม่สามารทำได้ เราเรียกว่าคนอัศจรรย์ แต่สำหรับผู้ที่สามารถประคับประคองจิตของตนเข้าสู่ระบบของธรรมได้ ไม่ให้เป็นไปตามระบบของกิเลสท่านเรียกว่า อัจฉริยมนุษย์ ซึ่งเป็นมนุษย์ที่มหัศจรรย์มาก สูงยิ่ง
          เพราะฉะนั้นพวกเราผู้ดำเนินทางด้านสมาธิจิต จงพยายามสร้างสติปัญญาที่พวกเราสมมุติว่าตัว อริยมัคคุเทศก์ ให้มาก ให้ยิ่ง ให้เหนือกว่าความรู้สึกของจิตที่มันจะเล็ดลอดเข้าไปต่อภพ พยายามสร้างขึ้นให้มาก สร้างทุกอริยบท การเดินเหิน นั่ง นอน ยืน ทุกสิ่งทุกอย่างเราอย่าประมาท เราต้องพยายามสร้างหรือจ้องคอยสังเกตจิตอยู่เสมอ ว่ามันจะเคลื่อนไปต่อเรื่องอะไร เมื่อมันเคลื่อนเข้าไปแล้ว มันเกิดความคับแค้นใจไหม เดือดร้อนไหม เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนผู้อื่นไหม เบียดเบียนตัวเองไหม ต้องพยายามมองเสมอ ถ้าหากเป็นไปในรูปนี้ต้องทำลายทันที ไม่เอา บอกว่าระบบนี้ฉันไม่เอาแล้ว เลิกแล้ว พอกันทีแล้ว ไม่เอาแล้วแบบนี้ไม่ใช่แล้ว ฉันจะใช้ระบบใหม่
          ฉะนั้นจึงขอให้พวกเราพยายามดำเนินให้เป็นไปในด้านธรรม ต้องพยายามสร้างสติสตังให้ดี ๆ พยายามสร้างสติปัญญาขึ้นให้มากให้ยิ่ง เมื่อพวกเราดำเนินให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควรแล้ว ผลที่ได้รับของพวกเรานี้ต้องเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ไม่เสียทีที่พวกเราสละเวลามาบำเพ็ญ ถ้าไม่เช่นนั้นจะเป็นการเสียเวลาเปล่า หรือการเสียสละเวลาของพวกเราที่มาดำเนินกันอยู่นี้ จะคุ้มค่าที่พวกเราเสียสละมา เพราะฉะนั้นจึงขอให้พวกเราตั้งอกตั้งใจทำให้ดีเถอะ ถ้าทำให้ดี ทำให้ถูก เป็นไปในทางสัมมาสมาธิแล้ว ไม่ขาดทุน ไม่มีทางขาดทุน ไม่เสียเวลาเปล่า ที่พวกเรามาบำเพ็ญในทางด้านสมาธิจิตอย่างที่อาตมาเคย เคยนำมาเล่าสู่กันฟังเสมอ ๆ ถ้าการทำสมาธิจิตนี้ไม่ได้แล้ว พระพุทธเจ้าคงไม่ได้อยู่สอนพวกเราตลอดอายุขัยของพระองค์แน่ เพราะในสมัยที่พระองค์ยังทรงเป็นฆราวาสอยู่นั้นพระองค์มีความสุขมาก พระองค์คงจะถอยหลังไปหารับความสุขแบบนั้นอีกแน่ ๆ แต่นี่ต้องแสดงให้เห็นว่า ความสุขทางด้านสมาธินี้เหนือกว่า พระองค์จึงได้ทรงดื่มด่ำอยู่ในคุณค่าของสมาธิจิตนี้จนตลอดอายุขัยได้ พวกเราก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ ถ้าหากว่าพวกเราทำได้ พวกเราก็จะดื่มด่ำอยู่ในคุณค่าของสมาธิจิตนี้จนตลอดอายุขัยของพวกเราไม่ถอยหลังแน่
          เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุผล จงเป็นผู้มีเหตุผลในตัวของตัวเองแล้วก็พากันเจริญทางด้านสมาธิจิต ทดสอบทดลองเอาเองว่า ผลของสมาธิจิตที่เราทำได้นี่ ผลเป็นเหมือนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านได้หรือไม่ ข้อสังเกตนั้นคือ ผลนั้นเป็นไปเพื่อการประหารกิเลส ผลนั้นไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียน ความรู้สึกนั้นเป็นไปเพื่อความเจริญทางด้านธรรมะ สิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อพิสูจน์ให้พวกเราสังเกตได้ เพราะเหตุนี้จึงขอให้พวกเราจงตั้งอกตั้งใจพากันดำเนินให้เป็นไปในทางสัมมาสมาธิด้วย ปัญญาอันนี้เป็นสุปัญญา จึงอุตส่าห์อธิบายถึงหลักที่พวกเราจะต้องดำเนินปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวนี้ เมื่อพวกเราท่านทั้งหลายดำเนินให้เป็นไปตามแนวนี้แล้ว พวกเราก็จะมีความสุข ความเจริญงอกงาม หรือเป็นไปในด้านสมาธิที่ถูกต้อง
          พวกเราจงประคับประคองดำเนินไปตามสายทางปฏิปทาที่แนะนำมานี้ พวกเราก็จะมีความสุขความเจริญ งอกงามไพบูลย์ในบวรพุทธศาสนาและคำที่ว่ากิเลส ๆ จะวิ่งออกหน้าพวกเรากิเลสทั้งหลายเหล่านั้นจะไม่มีโอกาสเป็นเจ้านายจิตใจของเราได้เลย พวกเราจะได้ประคับประคองจิตของพวกเราให้ตกกระแสที่เรียกว่า “อริยมัคคุเทศก์” หรือธรรม ให้เป็นไปเพื่อความเจริญงอกงาม
อาตมาภาพอธิบายมาก็ยืดยาวแล้ว ขอยุติเพียงแค่นี้ เอวัง ฯ

ณ วัดเขาสุกิม พ.ศ. ๒๕๑๓


หน้าแรกธรรมะ
กระดานข่าว
ลงสมุดเยี่ยม
อ่านสมุดเยี่ยม
ผู้เขียน

เชื่อมโยงกัลยานิมิตร >>
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว / สมเด็จพระมหาสมณเจ้า / พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร / พุทธประวัติ, พุทธโอวาท / ธรรมะพุทธองค์ / พุทธศิลป์ โดย อ.เฉลิมชัย / ธรรมะจากพระป่า / กองทัพธรรมพระกัมมัฏฐาน / ประวัติหลวงปู่มั่น / หลวงตามหาบัวช่วยชาติ / จังหวัดจันทบุรี / อำเภอนายายอาม / รอยยิ้มของพ่อ

เหมาะสำหรับจอภาพที่แสดงผลที่ 800 x 600 และเพื่อความสวยงามยิ่งขึ้นหากแสดงผลที่ 1024 x 768 (Microsoft Internet Explorer)
วัดเขาสุกิม
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2543

พัฒนาและออกแบบโดย นายทวีศักดิ์ รัตนคม    
ติดต่อสอบถามได้ที่ webmaster@khaosukim.org   
และทาง msn ได้ที่ hs2wjo@hotmail.com