หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
ประธานสงฆ์วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี
เรื่อง : สงบผล – สงบฐาน

            อยู่ที่บ้านนะ หมายถึงเหตุแห่งการประกอบนะ ที่ทำอย่างไรมันจึงจะเข้าไปสู่กระแสความสว่าง หรือความโปร่งโล่งอย่างงั้นได้ จำได้หรือเปล่า จำวิธีทำได้หรือเปล่า
            “จำได้เจ้าค่ะท่านอาจารย์ แต่มันมีน้อยครั้งเหลือเกิน” “คุณโยมกิมตั๊น กราบเรียน” ดีเหมือนกัน การทำสมาธิโดยมีจุดประสงค์ มันก็ มันก็เหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง คือว่าบางคนก็สำคัญในทางสงบผล บางคนก็สำคัญในทางสงบฐาน แต่ถ้าจะพูดแล้วคำที่ว่าสงบผลและสงบฐานนี้ก็คล้ายกันกับว่าอาตมานี้บัญญัติศัพท์พูด คำที่ว่าสงบผลนะ หมายความว่าอย่างไรจึงเรียกว่าสงบผล คำที่ว่าสงบผลนะหมายความว่าอย่างไรจึงเรียกว่าสงบฐาน คือคำว่าสงบฐานนี้ก็อย่างคุณกิมตั๊นว่าเมื่อกี๊นี้ นั่งเข้าไปจิตมันหยุดนิ่ง แต่ปัญญาไม่ค่อยมี มันก็โล่งโปร่ง หรืออาจจะพอใจอะไรสักอย่างก็เป็นเหตุให้จิตปลื้มพอใจ นี้อย่างหนึ่ง ในลักษณะนี้ความสุขก็มีแต่ความสุข อันนี้เกิดมาด้วยปีติ เพราะโดยส่วนมากสงบฐานนี่มันมีปีติเป็นเครื่องอยู่ มีปีติคล้ายกันกับว่าเป็นเครื่องอยู่อยากให้มีความสุขในทำนองนี้ อันนี้เป็นลักษณะของสงบฐาน แต่ทีนี้ลักษณะของสงบผลนี่มันก็มีอีกอย่างนี้ คือว่าผู้ที่มุ่งในทางสงบผลนี่ ต้องดูความรู้สึกของจิตเป็นใหญ่ คือว่าความรู้สึกของจิตนี่มันจะรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เราเคยพูดกันว่าสิ่งกระทบนั่นเอง เมื่อมีสิ่งกระทบซึ่งจะผ่านมาแล้วตั้งแต่อดีตโน้นก็ดีหรือสิ่งกระทบอยู่ในปัจจุบันก็ดี พูดถึงสิ่งกระทบในปัจจุบันนี้ก็เช่นเราประสบ ซึ่งพวกเรามักพูดกันว่าประสบการณ์นั่นเอง เช่น เขาชมเราก็ดี เขาตำหนิเราก็ดี เขาด่าเราก็ดีอะไรทำนองนี้ หรือเห็นรูปหูได้ฟังเสียงเหล่านี้แหละ พูดง่าย ๆ ซึ่งเราประสพปัจจุบันนี้ ความรู้สึกของจิตมันรู้สึกต่อสิ่งกระทบอย่างไร นี่สำหรับผู้สงบผลเขาจะต้องมองอย่างนี้ เมื่อเขามองเห็นว่าความรู้สึกของจิตมันเกิดรู้สึกอย่างสิ่งกระทบ สิ่งกระทบนั้นหมายความว่ามันจะยั่วยวนชวนให้พวกเรานี้โมโหอะไรในทำนองนี้ สำหรับความรู้สึกของจิตนะมันโมโหหรือเปล่าอย่างงี้ เขาต้องพูดอย่างนี้ เมื่อหากความรู้สึกของจิตมันโมโห เมื่อมันโมโหแล้วมันจะเข็นเอาอาการทั้งสอง คือกายและวาจานี่ให้แสดงบทบาทในสายตาและหูของบุคคลผู้อื่นซึ่งได้ฟังได้เห็นนั้นว่าเขาแสดงออกมานั้นเป็นไปด้วยกำลังของความโกรธหรือเปล่าอะไรในทำนองนี้ สำหรับผู้ต้องการสงบผลเขาเกิดสนใจอย่างนี้ เขาไม่ได้สนใจไปอย่างอื่น เขาทดสอบทดลองอยู่ทุกวัน ทีนี้หากจิตมีความรู้สึกนะเป็นไป แล้วพิสูจน์ว่าความรู้สึกอันนี้เป็นไปเพื่อความเศร้าหมอง หรือหากปล่อยให้อาการทั้งสองคือกายและวาจาให้เป็นไปกับความรู้สึกอย่างนี้ จะได้รับโทษคือความทุกข์ทั้งตัวเองและคนอื่นอะไรในทำนองนี้ เขาจะต้องหาทางหักห้าม เมื่อไม่มีความสามารถจะหักห้ามความรู้สึกได้ ส่วนความรู้สึกก็ให้มันแรงไปตามความรู้สึก แต่อาการทั้งสองซึ่งมันบังคับให้แสดงปฏิกิริยาต่อหรือให้ดำเนินต่อนั่นแหละ เราก็ต้องบังคับเอา คือ กายและวาจา ไม่ให้เป็นไปอย่างที่จิตรู้สึกสามารถบังคับไว้ได้นี่ เขาพยายามทำอย่างนี้ เมื่อเขาสามารถบังคับอาการของกายและวาจาที่จิตมีความรู้สึกแล้วมันบัญชาออกให้อาการทั้งสองเป็นไปตามความรู้สึกของมันนี้ เขาสามารถบังคับได้เต็มที่สมบูรณ์ดีแล้ว ต่อจากนั้นไปเขาก็หาทางหักห้ามหรือบังคับส่วนจิตซึ่งเป็นตัวที่มีความรู้สึกโดยตรง เขาทำอยู่อย่างนี้ ที่นี้ส่วนอารมณ์ที่เป็นอดีตสิ่งที่ผ่านมาแล้ว เช่น มันนึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาก ซึ่งบางสิ่งบางอย่างก็จะทำให้เราปลื้มปีติดีใจบางสิ่งบางอย่างก็จะทำให้เราน้อยใจเสียใจอะไรในทำนองนี้ แต่ในเมื่อมันวิตกหรือตรึกถึงอารมณ์สิ่งที่ผ่านมาแล้วมันเกิดมีความดีใจ เสียใจ ตามอารมณ์นั้นหรือเปล่า ก็ต้องพิสูจน์อีกต่อหนึ่ง เมื่อมันเกิดมีความดีใจและเสียใจ เราก็ต้องหาทางหักห้ามอะไรในทำนองนี้ แต่การหักห้ามนั้นก็ต้องอาศัยกำลังตปธรรมทั้งสอง คือ สติและปัญญา อย่างที่เคยอธิบายสู่ฟังมา อันนี้พูดถึงความสำคัญของผู้สงบผล แต่สำหรับผู้สงบฐานเขาจะต้องจดจ้องจ่ออย่างนี้ เช่น เขาให้คำบริกรรมในการภาวนา หรือเขาจะสร้างกำลังตปธรรมขึ้นมา แล้วเอามาบังคับจิต ไม่ให้ต่ออารมณ์ส่วนภายนอก เขาให้รับรู้เฉพาะจุด หรือเป้าหมายที่เขาตั้งใจไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอะไรในทำนองนี้ เมื่อบังคับผลักดัน ผลักดันบังคับไว้ จนจิตระลึกรู้เฉพาะจุดที่เขาตั้งเอาไว้ ความสงบก็ดิ่ง ๆ ลง ก็รู้สึกมันโปร่งโล่ง ก็มองดู อ้อ..โปร่งดีสบายดี เขาก็พยายามมองความโปร่งโล่งแล้วก็อยู่สบาย โปร่งโล่ง แต่สำหรับส่วนภายนอกที่จะแก้ไขปรับปรุงไม่สู้จะคำนึงเท่าไรนัก สนใจเฉพาะสิ่งอย่างนี้ แล้วก็เอาเฉพาะอย่างนี้ อันนี้เรียกว่าสงบฐาน นี่พูดถึงเรื่องผู้ที่สนใจ ถ้าจะพูดกันในทางที่ดีแล้วเรื่องสงบฐานก็เป็นของดี เพราะจะเป็นสถานที่จดแวะอาศัยในเมื่อหากมันเหน็ดเหนื่อย คือเราเอาจิตทำงานนะเราจะต้องไปพักอาศัย ในสมาธิจิตอันดับต่าง ๆ ที่เราสามารถจะดำเนินเข้าไปถึงอันนี้ก็ดีอยู่ แต่ถ้าจะพูดถึงผลที่แท้จริงแล้วมันต้องอาศัยสงบผล เพราะว่าการสงบผลเป็นบาทแห่งการตรัสรู้ธรรม หรือการสงบผล เป็นอุบายวิธีที่จะทำลายสิ่งก่อกวน ได้แก่อาสวะกิเลส หรือความรู้สึกฝ่ายต่ำของจิต อะไรในทำนองนี้ เพราะเหตุนั้นผู้ปฏิบัติถ้าจะพูดกันในทางที่ถูกแล้วให้สนใจในทางที่สงบผลนี่ จะดีมาก เพราะเราเห็นผลง่ายกว่า และผลนั้นไม่ค่อยจะตกไม่ค่อยจะหล่นด้วย พูดถึงความสงบฐานนี้มันตกหล่นเก่ง เช่นตัวอย่าง วันนี้แหมเรากำหนดได้ดีเหลือเกิน จิตตกกระแสโน้น ตกกระแสนี้ วันนี้รู้สึกโปร่งโล่งในหน้าอก โอ้โห วันนี้มีแสงสว่างรอบด้าน วันนี้มีแสงสว่างวูบขึ้น วันนี้รู้สึกมันวูบลงไป อ้อวันนี้รู้สึกกันถอยออกมาได้ลึกดี อะไรในทำนองนี้ มันถอยออกมาเรามองเห็นว่ารู้สึกว่ามันออกมาจากส่วนลึกในทำนองนี้ เมื่อหากเรากำหนดอย่างนี้ โดยส่วนมาก มันจะขโมยเขาไปชั่วครู่ชั่วคราว หรือเผลอ ๆ อะไรอย่างนี้มันถึงจะเข้าไป ในระยะที่คลุมกันจริง ๆ แข็งแรงอยู่มันก็ไม่เข้าโดยส่วนมากนะ แต่ก็ความสุขมันก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ว่าความสุขในลักษณะดังกล่าวนี้มันเป็นความสุขเกิดมาจากกำลังของปีติเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นอาตมาว่าในเรื่องสงบฐานนี่มันสำคัญอยู่ที่สงบผลมากกว่า แต่สงบฐานก็สำคัญเพราะเป็นสถานที่พักอาศัย อะไรในทำนองนี้ แต่ทีนี้พูดถึงเรื่องการสงบผลนี้นะ ถ้าจะพูดถึงคุณค่าประโยชน์ ถ้าหากพวกเราสนใจจริง ๆ แล้ว จะมองเห็นคุณค่าประโยชน์หรืออานิสงส์ หรือสิ่งที่พวกเราจะได้มาเป็นเครื่องประดับได้แก่ธรรมะ พวกเราจะมองเห็นง่ายที่สุด เช่น ตัวอย่าง เราผู้สำคัญอยู่ในความรู้สึกของจิตนี้เราจะมองเห็นได้อย่างนี้ เช่นเราทำความดี หรือเราจะทำความชั่ว เราก็ประกอบตามความรู้สึกของจิต นี่มันสำคัญเพราะความรู้สึกของจิตนั่นแหละมันเข็นเอาอาการทั้งสอง คือกายและวาจาให้เป็นไปตามอำนาจของมัน นี่พวกเราก็มองเห็นได้ชัด เช่นตัวอย่างพวกเรามาชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่นี้มากหน้าหลายตา พวกเราก็มาด้วยความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกของเรามันโน้มเอียงเข้ามาในทางที่เป็นบุญกุศล พวกเราก็อาศัยความรู้สึกอันนี้เข็น จึงเป็นเหตุให้พวกเราเข้ามาสู่สถานที่นี้ได้ ทีนี้สำหรับผู้ที่ไม่สมัครที่จะมารักษาศีลเจริญเมตตาภาวนาอย่างพวกเรา ก็เนื่องจากความรู้สึกของเขาไม่โน้มเอียงเข้ามาในทางนี้ ความรู้สึกของเราเป็นไปในทางอื่น อาจจะชอบในการดูหนัง หรือไปเที่ยวในงานมหรสพ หรืออาจจะขวนขวายพยายามดิ้นรนไปในทางร้างฆราวาสสมบัติ เป็นการหาเสบียงในทางร่างกายอะไรในทำนองนี้ เมื่อความรู้สึกของเขาโน้มอออกไปในทางอื่น เขาก็เป็นไปตามความรู้สึกของจิต เพราะฉะนั้นจึงว่าความรู้สึกของจิตนี่แหละมันจะนำพาให้คนและสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปตามอำนาจของมัน ทีนี้ถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งแล้ว พวกเราอยู่ใต้อำนาจแห่งความรู้สึกนี่มานานแสนนานแล้ว พวกเราก็มองเห็นได้ชัด แต่สำหรับพระพุทธเจ้าพระอริยะเจ้าทั้งหลายนะ ท่านไม่ยอมให้ความรู้สึกของจิตดึงเอาอาการทั้งปวงให้เป็นไปตามอำนาจของมันเสมอไป ท่านต้องสร้างกำลังอย่างที่พวกเราสร้างขึ้นมานี้ เข้ามาพิสูจน์ความจริงและเข้ามาเป็นเบรกบังคับ ไม่ให้เป็นไปตามความรู้สึกก่อน แล้วก็พิสูจน์สอดส่องถึงผลเสียผลดี ในเมื่อหากจะเป็นไปเพื่อผลดีก็ประคองเข้า ดำเนินให้เสร็จผลไป ในเมื่องจะเป็นเพื่อผลเสียท่านก็หาทางบังคับหักห้ามไม่ให้เป็นไปตามความรู้สึกอย่างนั้น นี่สำหรับพระพุทธเจ้าพระอริยะเจ้าท่านดำเนินอย่างนี้ ท่านจึงได้ชัยชนะมา ทีนี้จะอธิบายอีกนัยหนึ่งว่ากิเลส คำที่ว่ากิเลสนั้นคืออะไรพวกเราก็คงจะทราบว่ากิเลสตัณหานี่ ท่านไม่ได้สมมุติอะไรเป็นกิเลสตัณหา ท่านสมมุติความรู้สึกของจิตมีลักษณะอยู่สองลักษณะคืออะไร ลักษณะนั้นคือ ความเศร้าหมองของจิตและความดิ้นรนของจิตนั่นแหละ ท่านจัดว่าเป็นกิเลส ท่านไม่ได้สมมุติมาจากที่ไหน เพราะฉะนั้นพวกเราก็มองเห็นได้ชัดอยู่ว่า ความรู้สึกใดซึ่งเกิดมีความรู้สึกขึ้นภายในจิตของเราซึ่งเป็นไปเพื่อความเศร้าหมองและดิ้นรน ความรู้สึกในลักษณะดังกล่าวนี้แลเรียกว่ากิเลส เมื่อพวกเรารู้จักว่าอันนี้เป็นกิเลส อันนี้เป็นตัณหา พวกผู้มุ่งจะทำลายกิเลสจะทำลายตัณหานั้นพวกเราจะไปทำลายมันที่ไหน ถ้าพวกเราไม่ทำลายความรู้สึกอย่างนี้พวกเราก็ทำลายกิเลสตัณหาไม่ถูก เพราะฉะนั้นเมื่อพวกเราต้องการอากจะทำลายกิเลสตัณหาโดยตรงอย่างพระพุทธเจ้าพระอริยะเจ้าทำลายนั้น พวกเราก็ต้องทำลายความรู้สึกของจิตที่มีความเศร้าหมอง หรือความรู้สึกของจิตที่เป็นไปเพื่อความดิ้นรน หมายความอย่างง่ายที่สุดว่า เมื่อจิตมีความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ เมื่อเกิดมีความรู้สึกขึ้นมาแล้ว เมื่อปล่อยให้อาการทั้งสองคือทางกายและวาจาให้เป็นไปตามความรู้สึกอย่างนี้จะเป็นไปเพื่อโทษทุกข์ทั้งตัวเองและคนอื่น เมื่อความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นรีบหาทางเอาชัยชนะเสียนี่ อย่างนี้ เรามองเห็นชัดอยู่แล้ว เมื่อพวกเราสามารถทำลายความรู้สึกดังกล่าวนี้ได้

“พวกเราว่าอย่างไรกัน”
พวกเราผู้ต้องการจะทำลายกิเลสตัณหาก็เรียกว่าเป็นผู้ทำลายได้ เมื่อพวกเราทำลายกิเลสตัณหาได้แล้ว เหตุแห่งความทุกข์ก็เท่ากันกับว่าเราทำลายหรือฆ่าตาย เมื่อเราทำลายเหตุแห่งความทุกข์ได้แล้ว…..

“พวกเราจะได้รับอะไรทีนี้” “เมื่อทุกข์ไม่มีพวกเราก็มีแต่สุข นี่มันมีอย่างนี้”


            สำหรับพระพุทธเจ้าพระอริยะเจ้าท่านก็ดำเนินอย่างนี้ เมื่อหากพวกเรามามองอย่างนี้แล้ว การดำเนินในทางตปธรรมที่พวกเราดำเนินอยู่นี้ ถ้าจะพูดถึงการเจริญรอยตามพระอริยเจ้าให้ถูกต้องแล้วคงจะเจริญหรือดำเนินแบบนี้จึงจะเป็นไปอย่าพระอริยเจ้าท่านเป็นไป อันนี้หมายถึงการสงบผล
            แต่ถ้าจะพูดในทางที่จริงแล้ว ทางที่ดีแล้วสงบผลนี่แหละมันดีกว่าสงบฐานมา แต่สำหรับสงบฐานก็ขอให้ดำเนินแต่ว่า ขอให้เข้าใจเพียงแค่ที่ว่าการกำหนดจิต ซึ่งเราจะมองเห็นได้ว่า ความสงบลึกหรือไม่ลึกเพียงแค่ไหนนั้น พวกเราขอให้เข้าใจว่าเป็นการทดสอบเป็นการทดลองสติเป็นเบื้องต้นก่อน เช่น เมื่อเรากำหนดลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก เมื่อเราสามารถบังคับความรู้สึกให้รับรู้ได้เฉพาะปลายจมูก ซึ่งเป็นจุดที่เราตั้งเอาไว้เป็นนิมิตเครื่องเกาะอย่างนี้เป็นต้น เราสามารถบังคับความรู้สึกให้ระลึกรู้ได้เฉพาะจริง ๆ โดยจิตไม่มีอำนาจที่จะลุกออกไปต่ออารมณ์สัญญาทางอื่น เมื่อเราสามารถบังคับได้ดังกล่าวนี้เต็มที่แล้ว นั่นเรียกว่า เป็นผู้มีสติสมบูรณ์อยู่แล้ว อย่างนี้ แต่ทีนี้เมื่อจะอธิบายถึงเรื่องความสงบอันลึกลับเข้าไปอีกนั้น มันก็มีอยู่นัยหนึ่งอีกต่างหาก เพราะในเมื่อพวกเราดำเนินอย่างที่ว่านี่นะ หาทางทำลายความรู้สึกดังกล่าวอันนี้เรียกว่าเป็นผู้หาอุบายทำลายกามภพชั้นหยาบ เมื่อพวกเราสามารถทำลายกามภพชั้นหยาบได้ดังกล่าวนี้แล้ว กระแสจิตของพวกเราจะละเอียดลงไป เมื่อกำหนดแป๊บเดียวเท่านั้นเอง เราจะรู้สึกว่าจิตของเราตกกระแส แต่เมื่อตกกระแสแล้ว ก็เหมือนกันกับความรู้สึกของจิตที่มันต่อสิ่งต่าง ๆ อยู่อย่างปัจจุบันที่พวกเราต่อยู่เดี๋ยวนี้ เช่น มันนึกถึงสิ่งที่ไม่ดี มันเกิดมีความเศร้าหมองเสียใจ น้อยใจ ไม่พอใจ ไม่อยากได้ เมื่อนึกถึงสิ่งที่ดีก็รู้สึกมีความพอใจ ดีใจ อยากได้ หรือได้ประสพสิ่งที่ดี เช่นเขาชมเราก็ดี เห็นรู้ที่ดีก็ดี ปัจจุบันมันก็ต้องการ เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ดีได้ยินสิ่ง เกิดเสียใจน้อยใจ ไม่พอใจ นี่มันมีอย่างนี้ ทั้งอดีตและปัจจุบัน แต่เมื่อหากพวกเราหาทางปรับปรุงแก้ไขได้แล้วมันก็หลุดไป ตกกระแสเข้าเป็นส่วนภายใน เมื่อตกเข้าสู่ภายในก็ไม่แปลก มันก็เหมือน ๆ กัน แต่ว่าสิ่งที่จะทำให้หลงนั้นรู้สึกว่ามันละเอียดเข้าไปอีก ละเอียดนั้นคืออะไรละเอียดนั้นท่านเรียกว่า “วิปัสสนูปกิเลส” มันเป็นสิ่งที่ลึกลับ เขาเรียกว่ากิเลสใน อันนี้เป็นของสำคัญมาก แต่แท้ที่จริงแล้วพวกเราผู้ที่ทำใหม่ ๆ อย่างที่คุณกิมตั๊น อธิบายเมื่อกี๊นี้ก็ขอให้สำคัญในอุบายวิธีที่เราจะดำเนินเข้าประตูต้น เพราะว่าในอันดับที่ ๒ อันดับที่ ๓ ที่ ๔ เป็นลำดับไปโน้น หมายถึงกามภพชั้นละเอียด เทียบเท่ากับความเป็นอยู่ ของชาวโลกทิพย์ อันนั้นเป็นอุบายวิธีที่เราจะดำเนินต่อทีหลัง แต่อุบายเบื้องต้นที่เราจะแหวกทางเข้าไปสู่จุดอันละเอียดนั้น เราต้องทำลายกามภพชั้นหยาบก่อน การทำลายกามภพชั้นหยาบก็อยู่ในอย่างที่อาตมาอธิบายสู่ฟังว่า ความรู้สึกของจิตเรานี่แหละ มันรูสึกต่อสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมันมีความดีใจ เสียใจ ในเมื่อเขาชมและตำหนินั้น เมื่อเกิดมีความรู้สึกขึ้น เราต้องหาทางประคองป้องกัน เมื่อเราไม่มีความสามารถจะแก้ไขความรู้สึกของจิตโดยตรงได้ เราก็ต้องพยายามหาทางบังคับอาการของกายและวาจา ที่จะเป็นไปตามอำนาจของความรู้สึกที่มันดึงไปนั้น พยายามบังคับไว้ให้ได้ เมื่อเราสามารถบังคับไว้ได้เต็มที่แล้ว เราจึงเข้าไปแก้ไขปรับปรุงในความรู้สึกโดยตรงของจิต ต้องเอากำลังตปธรรมทั้งสองนี้เข้าไปต่อสู้จนกว่าจะเอาชัยชนะกับความรู้สึกของจิตได้ เมื่อเราเอาชัยชนะได้แล้วเราต้องจำไว้ให้ดีว่า วิธีทำของเราทำอย่างนี้ ต่อจากนั้นไปการเดินจรเข้าไปสู่ภพภายในนั้นเป็นของไม่ยาก แต่พวกเราโดยส่วนมากก็มักจะกำหนดมุ่งเข้าไปหาความละเอียดของจิคเลยทีเดียว แต่สิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหยาบมันติดข้องพะรุงพะรัง ไม่มีทางที่จะแก้ไขอยู่แล้ว เราจะหาทางเล็ดลอดเข้าไปสู่ความละเอียดของจิตนั้นรู้สึกว่า จะไปไม่ได้ ไม่มีทางไปได้ ถึงแม้จะสงบบังคับกันอยู่ได้ชั่วครู่คราว เกิดมีอาการอะไรให้ปรากฏสักหน่อย ก็มีความปลื้มปีติ ก็เลยไปหลงไหลอยู่ในสิ่งนั้น บางทีอาจจะไม่เป็นผลดีก็ได้ แต่ว่าอาศัยความปีติและความพอใจ ก็เป็นเหตุให้มีความอิ่มใจปลื้มใจ เลยมีความสุขขึ้นมาอย่างนั้นก็ได้ แต่ทีนี้ในเมื่อหากเราทำลายความรู้สึกชั้นหยาบ เขาเรียกว่ากามภพนี้ได้แล้ว เมื่อตกหยั่งกระแสเข้าไปสู่กามภพชั้นละเอียดเทียบเท่ากับความเป็นอยู่ของสรวงสวรรค์ดังกล่าวนี้ มันก็อยู่ที่ความรู้สึกของจิตเช่นกัน เกิดมีความรู้สึกขึ้น เช่น มันรู้สึกต่อสิ่งที่รู้เห็น เช่นมันจะรู้เป็นสิ่งต่าง ๆ เขาเรียกอภิญญารณสมาบัตินั่นเอง อันนี้ตัวหนึ่งสำคัญมาก มันเกิดรู้เห็นอันนั้นรู้เห็นอันนี้ แล้วก็สามารถที่จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ อะไรเหล่านี้ ให้เป็นไปอย่างนี้ ได้อย่างนี้ เราก็สามารถที่จะให้เป็นไปอย่างนี้มันก็ออกมาข้างนอกอีกต่อหนึ่ง ความรู้สึกอันนั้นก็อยู่ในลักษณะของกิเลส เพราะมันเศร้าหมองอยู่เช่นกัน มันอาจจะเอากำลังของสมาธิจิต ซึ่งให้เป็นกำลังชนิดหนึ่งซึ่งจะนำพาให้เป็นไปอีกอย่างหนึ่งในสิ่งที่ต้องการเป็นไปแบบโลก ๆ ธรรมดาให้ดียิ่งขึ้น มันก็อาจจะเอาออกมาแลกเปลี่ยนอีก ความรู้สึกดังกล่าวจึงเรียกว่าตกอยู่ในกระแสของกิเลส หรือโลกธรรมยังครอบเราอยู่ อะไรในทำนองนี้ ความรู้สึกยังไม่เหนือโลก จึงเรียกว่าความรู้สึกอยู่อำนาจของโลกธรรม ก็มีอยู่อย่างนั้น ทีนี้เราก็ต้องหาทางเข้าไประงับ ยับยั้ง ทำลายความรู้สึกอันนั้นอีกเรื่อยไป จนกระทั่งความสุขอันปรากฏขึ้นมาจากกำลังของสมาธิในอันดับนั้นอีก เราก็ต้องหาทางเข้ายับยั้งเช่นกัน จิตของเราจึงจะหลุดจากอันดับนี้เข้าไปสู่อันดับต่อไป แล้วก็ผลมันก็ละเอียดขึ้นมาอีกลึกลับขึ้นมาอีก เราก็แก้ไขปรับปรุงอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะถึงที่สุด ถ้าพวกเราไม่เข้าใจอย่างนี้ มีเพียงแค่กำหนดหาผล พอนั่งสมาธิเข้า อือ..เมื่อไรมันจะเย็นน๊อ อือ เมื่อไรมันจะสงบน๊อ พอมอง ๆ เห็นท่าทีผิดปกติ โอ้..จวนละมั้ง ๆ กำหนดหา เมื่อหากจะมาทำกนอยู่แค่นี้นั้น ก็มีเพียงแค่ที่ว่ารู้สึกมันวูบ ชั่วครู่คราว หรืออาจจะโปร่งชั่วครู่คราว ที่หลังกำหนดใส่ไม่ถูกเลย เป็นไปไม่ได้อย่างนั้นก็มี เพราะฉะนั้นจึงว่าการกระทำอย่างนี้นั้นมันอาจจะให้ผลเป็นบางครั้งคราว แล้วก็อาจจุไม่ให้ผลอีกเป็นบางครั้งคราวเช่นกัน แล้วตัวเองก็บางทีก็น้อยใจ เสียใจ กำหนด อื้อ.. “เรานี้เป็นอัพพะบุคคล ละมั้ง ไม่ควรแก่การตรัสรู้แล้วกระมั้ง เราเป็นคนบุญน้อยวาสนาน้อย เสียแล้วกระมั้ง ถ้าละก็เราไม่ต้องทำหละสมาธิ เราทำบุญในทางภายนอกก็พอละกระมั้ง” แล้วก็ถอนตัวไปหาทางอื่น เช่น หาสมบัติพัดสถานมาทำบุญทำทานเป็นส่วนภายนอกไป เพื่อเป็นการเสริมสร้างบารมี เลยดำเนินไปอย่างนั้นเพราะเข้าใจอย่างนั้นก็มี
แต่แท้ที่จริงแล้ว ตัวเองทำไม่ถูก จึงเป็นเหตุไม่ให้จิตละเอียดหยั่งเข้าไปสู่คุณธรรมชั้นสูง นี่มันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราเหล่าผู้ปฏิบัติทั้งหลายนี่ ให้สำคัญอยู่ที่สงบผล อย่าไปสำคัญอยู่ที่สงบฐานให้มากนัก เพราะสงบผลนี่มันมันเป็นอุบายวิธีที่จะทำลายความรู้สึกฝายต่ำ เช่น อย่างที่อธิบายสู่ฟังมาเมื่อกี๊นี้ เพราะความรู้สึกอย่างที่อาตมาอธิบายนี้ ท่านเทียบกับกิเลสตัณหาคือ สมมุติเป็นกิเลสตัณหาเอาเสียเลย หรือถ้าจะพูดนัยหนึ่งก็ว่า เป็นพญามาร เพราะเป็นตัวก่อกวน นี่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราผู้ปฏิบัติทั้งหลายจงสนใจให้มากในเรื่องความรู้สึกของจิต เพราะถ้าหากพวกเราปล่อยให้ความรู้สึกของจิตนี่นำพาให้อาการทั้งหมดของเราเป็นไปตามความรู้สึกของจิตโดยไม่มีกำลังอะไรเข้าไปทบทวนต่อสู่นี่ พวกเราจะมีความเสียหายมาก เช่น ดุจในที่พวกเราได้ประสบอะไรต่าง ๆ เมื่อมันเกิดความรู้สึกขึ้นมา ซึ่งบางสิ่งบางอย่างจะเป็นไปเพื่อความเสียหาย เมื่อพวกเราไม่มีกำลังของตปธรรมเข้าไปยับยั้งพิสูจน์ถึงผลเสียผลดี และไม่มีทางเอาชัยชนะอาการทั้งสอง ซึ่งความรู้สึกของจิตมันเข็นให้เป็นไปตามความรู้สึกของมัน ในทำนองนี้ เมื่อปล่อยให้เป็นไปตามอาการแล้ว ได้รับความเดือดร้อนอย่างที่พวกเราเคยเห็นกัน เช่น คนที่เข้าตารางก็ดี มีเรื่องมีราวยุ่งเหยิงขึ้นก็ดี อะไรต่ออะไรต่าง ๆ นั้นก็เนื่องจากว่าความรู้สึกของจิตฝ่ายต่ำมันนำพาให้อาการอันนั้นเป็นไปตามอำนาจของมัน เราก็ไม่รู้กำลังอะไรเข้าไปยับยั้งต่อสู้มันนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้มันเป็นไปอย่างนั้น เผื่อหากว่าพวกเรามีกำลังของตปธรรมเข้าไปต่อสู้หละ พิสูจน์ความจริงเสียให้แน่นอนว่า ในเมื่อความรู้สึกของจิตอย่างนี้ มีอย่างนี้ มันเข็นเอาอาการทั้งสองให้เป็นไปตามอำนาจของมันแล้ว มันจะได้รับโทษอย่างนี้ ซึ่งเรามองเห็นได้ชัดแล้ว เราทำการต่อสู้ยับยั้งเอาไว้ อย่างนี้เราจึงจะไม่มีโทษ ถ้าเรามีกำลังส่วนนี้สามารถเข้าไปต่อสู้กับความรู้สึกอันนี้ ให้กำลังส่วนที่ต่อสู้นี่มีอำนาจเหนือกว่าแล้ว พูดถึงเรื่องโทษทุกข์ทั้งหลายนะ พวกเราจะไม่ได้รับ แล้วก็ผลสุดท้ายก็เป็นการต่อสู้กับเวรภัย โดยไม่มีเวรไม่มีกรรมต่อกัน ก็เป็นอันว่าไม่มีเวรไม่มีกรรม นี่เราลองนึกดูซิ เพราะฉะนั้นจึงว่า สำหรับพวกเราผู้บำเพ็ญซึ่งเป็นผู้มุ่งหวังที่จะทำลายกรรม ทำลายเวรของตัวเองก็ดี หรือกรรมเวรที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นก็ดี อะไรทั้งหมดนี้ พวกเราไม่ทำอย่างนี้ พวกเราจะไปทำลายกรรมเวรได้ที่ไหน ก็เป็นอันว่าต่อกรรมต่อเวรกันเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น พวกเราอยากจะหยุดกรรมหยุดเวรเป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีภัย พวกเราต้องทำอย่างนี้ จึงจะหมดเวร จึงจะหมดภัยนี่ อาตมาอธิบายสู่ฟังมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อใครสงสัยตรงไหนก็ลอง ๆ ดูซิ อาตมา
อารัมภกถาให้แล้ว ใครสงสัยตรงไหนก็ลองถามเป็นข้อ ๆ เอาดีกว่า แล้วใครสงสัยอะไรตรงไหนบ้าง


“ครูใหญ่ว่าอย่างไร” พระอาจารย์ถาม
“ขอกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ที่ว่านี้ก็หมายถึงสงบกิเลสอย่างหยาบ ๆ ที่มันเป็นกิเลสที่มันจะมานำพามากระทบจิตใจเรา อันมีความโลภ ความโกรธ ความหลง อะไรเช่นนี้ เบื้องต้นนี่ใช่ไหมครับ” คุณครูวีระ กราบเรียนถาม

“เจริญพรนี่สำหรับเบื้องต้นชั้นแรก” ท่านพระอาจารย์

“คือว่านี่เป็นการสงบผลใช่ไหมครับ” ครูวีระถาม
“เจริญพร” ท่านพระอาจารย์
“ถ้าตัดจำพวกความวูบวาบของจิตที่กระทบต่ออารมณ์ ซึ่งมันต่อเนื่องกันนี่ ถ้าเราตัดพวกนี้เสียได้ก็เป็นหนทางที่จะแสวงหาความรู้จากการบำเพ็ญสูง ๆ ขึ้นไปได้ ถ้ายังสงบอันนี้ไม่ได้ก็จะเป็นสงบฐาน คือว่ายังเอาดวงจิตของเรานี่เขาไปจดจ่อเฉพาะอันที่เรายึดอย่างที่ว่ากำหนดลมหายใจเข้าออกก็นึกให้จิตว่างลงไปเฉย ๆ กลายเป็นจิตว่างไปเฉย ๆ อย่างนั้น บางวันก็ทำได้บางเวลาก็ได้ บางวันก็ไม่ได้คับแคบอึดอัด เหมือนอย่างที่โยมตั๊นว่า อย่างนี้เรียกว่าสงบฐานใช่ไหมครับ” ครูวีระถาม
“เจริญพร” ท่านพระอาจารย์

“ถ้าจิตใจเรามันยังระงับต่อความ อารมณ์ที่ไม่ต้องการ เช่นว่าอารมณ์โกรธเกิดขึ้นวูบวาบ เราก็ปล่อยกายแสดงกัดเขี้ยวเคี้ยวฟัน กำหมัดกำมือขึ้นมา หรือว่าถ้าเขาชมเชยยกย่องสรรเสริญก็ยิ้มแย้มแจ่มใส หัวเราะหัวให้มันมีอะไรก็อยากจะหยิบจะยื่นให้เขาหมด อย่างนี้ก็เรียกว่ากิเลสหยาบ ๆ ก็ยังไม่หมดไปใช่ไหมครับ ถ้ายังมีกิเลสอย่างนี้อยู่ก็หมายความว่าจะไปทำสมาธิให้มันเกิดความสงบขึ้นมาชั่วครู่ชั่วยาม อย่างสงบฐานเป็นได้แค่เพียงบางวันก็ได้บางวันก็ไม่ได้ ใช่ไหมครับ” ครูวีระถาม
“เจริญพร” ท่านพระอาจารย์
“ก็เพิ่งเข้าใจเดี๋ยวนี้เองว่า เคยตั้งใจสงบ พุทเข้า โธ ออก ๆ ๆ ๆ เดี๋ยวก็มีได้โน่นมา ไอ้นี่มา เป็นคล้าย ๆ กับว่าเป็นแสงอะไรเหล่านี้แหละครับ” ครูวีระ
“เป็นแสงอุคคหนิมิต เป็นนิมิตชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง” ท่านพระอาจารย์
“มันก็ไม่มีความหมายกับสมาธิของเราเลยใช่ไหมครับ ตกทางของพระอริยเจ้านี่ มันก็เกือบไม่มีความหมายเอาเลย พอออกจากนั่งพุทธ เข้า โธ ออก อยู่นี่ ถ้ามีคนอื่นมาด่าพ่อด่าแม่อะไรขึ้นมาก็ผุนผันขึ้นนี่ แสดงว่าไม่มีอะไรเลยหรือหมดไปเลยใช่ไหมครับ คือ ธรรมะของท่านอาจารย์สั่งสอนพวกเรานี่ ต้องการให้เราละกิเลสที่มันจะทำให้อารมณ์เราวูบวาบไปกับมันนี่ ให้สะกดกิเลสให้มันนิ่ง ให้มันออก ถ้ามันนิ่งอยู่ไม่ได้ก็ให้มันเหมือนน้ำที่ท่านอาจารย์ว่ามันโดดก็ให้นกระฉ่อกกะฉ่อนอยู่ในแก้วของมัน อย่าให้มันกระโดดออกนอกแก้ว อย่างนี้ใช่ไหมครับ จุดมุ่งหมายอยู่ตรงนี้” ครูวีระถาม
“ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ว่านี่ดิฉันหมายความว่า ที่ว่าไม่สบาย คับแคบนั่นนะ คือนั่งสมาธิไม่ได้นานค่ะ” คุณโยมกิมตั๊น กราบเรียน


            ท่านพระอาจารย์กล่าว อ้อ..ก็ดีเหมือนกัน ที่ว่าเมื่อทำถูกแล้วมันจะสบาย คำที่ว่าสบาย ๆ นี่ก็ คำที่ว่าสบาย ๆ ของอาตมานี่ก็มันก็มีหลายสบายกัน คือว่าที่ว่าสบายอย่างอาตมาว่าก็หมายถึงที่ว่า คนเราไม่สบายก็เนื่องจากไม่สงบ คำที่ว่าสบายก็สุขนั่นแหละ ไม่สบายไม่สุขนั่นแหละ แต่คำที่ว่าสบายในที่นี้หมายถึงผู้สงบ คำที่ว่าสงบในที่นี้ก็คือสงบจากบาป คำที่ว่าบาปในที่นี้ก็หมายถึงความชั่ว คำที่ว่าความชั่วในที่นี้ก็คือ ความรู้สึกของจิตเป็นบาทเบื้องต้น คือว่ามันเกิดมีความรู้สึกเป็นไปในทางที่ชั่วพรรณนาสู่ฟังมานี้ ทีนี้เมื่อใครเอาชัยชนะดังกล่าวนี้ได้รู้สึกว่ามันสบายมาก คุณสบาย สมมุติอย่างนี้นะ สมมุติว่าเมื่อหากเรานี่สามารถเอาชัยชนะกับความรู้สึกอย่างนี้ได้นะ หรือเมื่อหากว่า เราเอาชัยชนะกับความรู้สึกโดยตรงไม่ได้ เราก็ต้องเอาชัยชนะกับอาการทั้งสองซึ่งความรู้มันจะเข็นให้เป็นไปตามอำนาจของมัน เช่น เวลานี้เราประสพกับคนคนหนึ่งซึ่งมันด่าเราอะไรทำนองนี้ เขาด่าเรานะ ทีนี้เราเกิดมีความโมโหวูบ ขึ้นมาในทางจิตนะ ทีนี้เราก็อยากจะด่าอย่างนั้นใช่ไหม ตามธรรมดานะ บังคับให้พูดดีออกมา ทีนี้ส่วนกายละ ตามธรรมดาแล้ว อาการขอความรู้สึกมันก็จะเข็นเอาอาการของกายนี่เป็นไปตามความรู้สึกของมันนั่นแหละ ทีนี้เราก็บังคับเอาไว้ อาการของกายก็ดี ให้ดี หมายความว่าเอากำลังของตปธรรมโหมมันไว้เลย ไม่ให้พูดออกมาตามจิตมันปรากฎนั่นแหละ ไม่ให้พูดออกมาอย่างนั้น ให้พูดดี เขาด่าเราเราก็ต้องพูดดีต่อ เขาแสดงบทบาทที่ไม่ดีต่อเรา เราก็ต้องแสดงบทบาทมารยาททางกายที่ดีออกตอบ อะไรในทำนองนี้บังคับไว้ ทีนี้เมื่อเราสามารถทำได้อย่างนั้น ความสุขคืออะไรหละ คุณก็มองเห็นได้ชัดว่า ในเมื่อเราปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจของมันแล้วเล่า มันเป็นอย่างไรหละ ก็มองเห็นอยู่แล้ว เมื่อเราไม่ได้เป็นไปหละ เราก็มองเห็นอยู่แล้วนี่ มันสุขหรือมันทุกข์กันแน่ เมื่อปล่อยให้เป็นไปตามความรู้สึกของจิต มันได้รับความทุกข์แน่หละ เมื่อเราไม่ปล่อยให้เป็นไปตามความรู้สึกของจิตหละ มันก็ไม่ได้รับความทุกข์อย่างที่เราได้รับ ที่เราปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น นี่เราก็มองเห็นอยู่แล้วว่าเป็นผลของความสุขชนิดหนึ่ง ที่นี้ต่อจากนั้นไปอีก ที่นี้ไอ้ความรู้สึกที่มันนิ่มนวลขึ้นมาในทางจิตของเราจริง ๆ นี่ โอ้โห รู้สึกว่ามันแปลกจริง ๆ มันแปลกจริง ที่นี้ยิ่งความรู้สึกของจิตที่มันวูบขึ้นมาแรง ๆ นี่นะ มันจะเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่ามันทุกข์หรือมันโกรธในทำนองนี้
             เมื่อเรามีอำนาจของตปธรรมบังคับให้มันตก วูบ..ลงไปได้นี่ มันเปลี่ยนโฉมหน้าขึ้นมาทีนี้ ไม่ใช่จิตดวงเดิมเสียแล้วคล้าย ๆ ในทำนองนี้ เหมือนกับมีเทพเจ้ามาช่วยอีกองค์หนึ่งรู้สึกว่ามันนิ่มนวล มันมีความสุข โอ้โห..บอกไม่ถูก นี่เป็นสิ่งที่แปลกที่สุดด้วย
            ทีนี้ส่วนอานิสงส์อย่างอื่นหละ มันสามารถจะให้หยั่งรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างแปลกที่สุดด้วย อันไหนมีโทษอย่างไร อันไหนมีคุณอย่างไร และความรู้พิเศษอย่างอื่นมันจะซาบซ่านผิดปกติไปอีกมากนี่ เป็นผลอันดีงามที่อาตมาพูดมีความหมายอย่างนี้เป็นส่วนมาก
            ทีนี้ต่อจากนั้นไปอีกหละ อันอื่นก็เช่นกัน ในเมื่อเราไปประสพอะไรทั้งหมด ความรู้สึกใดของจิตที่ปรากฏขึ้นมา จะเป็นไปเพื่อผลเสียนั้น อย่ายอมให้มันเข็นเอาอาการทั้งสองนี่ ให้มันเป็นไปตามอำนาจของมันเลย ต้องพยายามบังคับไว้ให้ได้ ทีนี้อาตมาจะอธิบายเรื่องความรู้สึกอย่างนี้ให้ฟังเป็นลำดับ เพราะอาตมาเคยอธิบายอยู่แล้วแต่ก่อน คือ ความรู้สึกอันนี้สี่ อาตมาจะเทียบเท่าเป็นลำดับ ๆ ขึ้นไปให้ฟังนะ เช่นความรู้สึกของสัตว์เดรัจฉาน ขอโทษเถอะนะ อย่าว่าอาตมาเอาสัตว์เดรัจฉานมาเทียบเลย อย่าว่าอาตมาด่า ไม่ได้ด่าหรอก พูดกันด้วยความจริง คือ หมายความว่าความรู้สึกและสิ่งประกอบของสัตว์เดรัจฉานนี่ เมื่อมันมีความรู้สึกอย่างไรนั้น มันไม่ได้ทบทวน และไม่มีกำลังของสติและปัญญา ซึ่งเป็นกำลังตปธรรม ที่อย่างพวกเราสร้างขึ้นมานี้ มันไม่มี เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่ปรากฏขึ้น เขาไม่มีกำลังอะไรทบทวนเมื่อจะเป็นไปอย่างไร เขาก็เป็นไปตามความรู้สึกของเขา นี่เป็นส่วนมากของสัตว์เดรัจฉาน
            เพราะฉะนั้นความรู้สึกและสิ่งประกอบดังกล่าวนี้ ท่านเรียกว่าความรู้สึกของสัตว์เดรัจฉาน ทีนี้ขึ้นมาถึงมนุษย์เรา มนุษย์ใดหากมีความรู้สึกแล้ว ปล่อยให้ความรู้สึกอันนั้นแหละเข็นเอาอาการทั้งหมดเป็นไปตามกับอำนาจของมันได้เลย อันเรียกว่า สัตว์มนุษย์ เพราะมีสัตว์เดรัจฉานเจืออยู่ ในความรู้สึกอันนั้นเทียบเท่าได้ เพราะเหตุนั้น แม้แต่พระโพธิสัตว์นะ โพธิยังเป็นผู้รู้อยู่ แต่ยังมีนิสัยของสัตว์เจืออยู่ ท่านจึงให้นามว่า พระโพธิสัตว์
            ทีนี้จะไม่พูดเรื่องพระโพธิสัตว์ จะพูดเรื่องมนุษย์ธรรมดา แต่เขาเรียกว่าปุถุชน หรือ โลกียชน สำหรับความรู้สึกของโลกียชนนี่ จะมีการเข้าข้างกิเลสบ้าง หรือบางทีก็มีการทบทวนบ้าง แต่บางทีเมื่อรุนแรงก็ไม่มีความสามารถจะยับยั้งไว้ได้บ้าง หรือบางทีตั้งใจไว้ดีแล้ว ว่าจะไม่ให้เป็นไปอย่างนั้นแหละ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองตั้งใจ แต่แล้วก็ปล่อย อันนี้ท่านเรียกว่าปุถุชนหรือโลกียชน ก็มีอยู่อย่างนั้น
            ทีนี้สำหรับกัลยาณปุถุชนนั้น สำหรับกัลยาณปุถุชนไม่เป็นอย่างนั้น คือว่าตั้งใจ จะเอาชัยชนะมันอยู่เสมอ ๆ ในเมื่อหล่นไปก็รู้สึกเสียใจ รู้สึกมีความละอายภายในจิตใจ ในเมื่อพลาด พยายามอยู่เสมอไม่ได้เอนเอียงเข้าข้างมัน แต่เมื่อมันรุนแรงมันก็สู้ไม่ไหว มันรุดเข้าไปต่อสู้กับเหตุการณ์เลย อันนี้ท่านเรียกว่า กัลยาณปุถุชน
             ทีนี้ เมื่อผู้ใดมีความรู้สึกขึ้นมาแล้ว ความรู้สึกของจิตจะรุนแรงก็ตามไม่รุนแรงก็ตาม อาการทั้งสองของกายและวาจา ไม่ให้เป็นไปตามความรู้สึกตลอดเวลา สามารถเอาชัยชนะได้อยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับความรู้สึกของจิตมันก็แรงอยู่ แต่ถึงแม้จะเบาก็เบาได้เป็นบางคราว แต่ไม่ขาดสูญ ความรู้สึกและการประกอบดังกล่าวนี้แล ท่านเรียกว่า อริยชน คือ โสดาบัตติมรรค เกิดปรากฏขึ้นมาแล้ว ที่นี้ความรู้สึกใดซึ่งปรากฏขึ้นมาแล้ว ไม่เฉพาะบังคับอาการทั้งสองคือกายและวาจา ไม่ให้เป็นไปตามอำนาจของความรู้สึกอย่างนั้น ไม่เพียงแค่นั้น ยังสามารถเข้าไปยับยั้งความรู้สึกของจิตได้ เช่น เราโกรธขึ้นมาอย่างนี้ มันเป็นอุบายอันดีเข้าไปแก้ จนไม่ถูกโกรธเลย วางขาด โดยไม่ให้มันหยุดเองนะ ของพันนี้บางทีมันไปสุดกำลังของมันมันหยุดเองก็มี อันนี้ไม่ปล่อยให้หยุดเองก็มี อันนี้เขาเรียกว่าหยุดโดยธรรมชาติ แต่สำหรับโสดาบันบุคคลนี่ไม่ใช่อย่างนั้น พอมันเกิดขึ้นมาแล้วก็มีอุบายวิธีหรือกำลังทำให้มันตกด้วยอำนาจตปธรรมนั้นจริง แต่ไม่ทันท่วงทีไม่เก่งที่สุดหรอก แต่สามารถบังคับได้จนเป็นเหตุไม่ให้คนนั้นผูกโกรธเลยเป็นอันขาด ไม่มีทางผูกโกรธได้ เพราะฉะนั้นทั้งสององค์นี้อยากจะย้อนมาอธิบายอย่างครู่ใหญ่ว่าเมื่อกี้นี้ เหมือนน้ำกะฉอกอยู่ในขันนะ อันหนึ่งมันกะฉอกกระเด็นออกข้างนอก หมายถึงความรู้สึกของปุถุชน ถ้ามันออกแรงนะ ถ้าออกเบาเขาเรียกว่ากัลยาณปุถุชน ถ้ามันกระเพื่อมหรือมันดิ้นอยู่ จริงอยู่ แต่ไม่กระเด็กออก เป็นลักษณะของโสดาบัตติมรรค นา เป็นโสดาบัตติมรรค ทีนี้ความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นบังคับได้เลย บังคับได้ไม่ให้รุนแรง และไม่ให้มันหยุดเอง อะไรในทำนองนี้ เป็นโสดาบัตติผล นี่ อยู่ในทำนองนี้ ถ้าไวไฟจนถึงขนาดที่เรียกว่ามีความรู้เป็นเอกรัตติงของจิต สว่าง แจ่ม เหมือนกันกับเรามองไฟอย่างนี้ เราไม่ต้องตั้งปัญหาถามตัวเองหรอกว่า เราจับแล้วไฟมันจะไหม้มือเราไหม แล้วเราไม่ต้องไปนั่งกำหนดหรอกว่า ไฟมันเคยไหม้มือคนอยู่ตรงไหน เคยไหม้มือเราเมื่อไหร่ ไม่ต้อง มันเป็นชวนะเลย สติ มันเป็นชวนะเพล็บรู้เลย ไม่สามารถจะจับไฟได้ฉันใด อารมณ์ที่จะนำพาไปสู่ความเศร้าหมอง อารมณ์ที่จะนำพาไปสู่ความดิ้นรน หรือเป็นไปเพื่อความทุกข์นั้นรู้เพล็บ อ่านตลอดตัวตลอดหางชัชวาลย์อยู่ตลอดเวลา อันนั้นเป็นลักษณะของอรหันตบุคคล
             แต่สำหรับที่เรียกว่าปรากฏขึ้นสามารถบังคับได้เต็มที่ แล้วไม่ใช่มันหยุดเองด้วยกำลังของตปธรรม และบุคคลผู้นั้นไม่มีผูกโกรธ มีแต่ความรู้สึก วูบขึ้นก็ตก มีความรู้สึกวูบขึ้นก็เอากำลังเข้าไปยับยั้งตก ความรู้สึกวูบขึ้นเอาไปยับยั้งก็ตก อยู่ในลักษณะนี้แล เรียกว่าโสดาบันบุคคล ขอให้พิจารณาเถอะ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงเรื่องมรรคผลแล้วหมายถึงความสงบอะไร ก็หมายถึงความสงบผลดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อมรรคผลเป็นไปเพื่อผล แต่ความสงบในลักษณะที่เรียกว่า สงบฐานนั้นก็ไม่เห็นท่านเทียบเท่ามรรคผลตรงไหนเลย เราผู้ที่จะสำเร็จเป็นโสดาบันบุคคลได้นี้ ท่านจะบอกว่าละสังโยชน์ได้ ๓ แต่สำหรับอาตมานี้ว่า สังโยชน์นี่คงจะละได้ ๔ สำหรับอาตมานะสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า คงจะละได้ ๔ ไม่เฉพาะ ๓ เลย ๑ ละได้ซึ่งสักกายทิฏฐิ ๒ วิจิกิจฉา ๓ สีลัพพตปรามาศ ๔ โทสะ มีอยู่ ๔ องค์ เพราะมองเห็นแล้วว่าพระโสดานี่ ไม่เคยที่จะเป็นข้าศึกกับใครเลย ไม่มี จึงได้นามว่าพระอริยะเจ้า จึงได้ความว่าผู้ได้โลกุตตระสมบัติ ผู้พ้นไปเสียจากโลก ถ้ายังมีความโกรธอยู่ ยังโมโหคนนั้น ไปต่อยคนนั้น ไปตีคนนั้น ยังจะจัดว่าเป็นผู้ได้โลกุตตระสมบัติไม่สมควร และมองเห็นได้ชัดเหลือเกินว่า ผู้ที่เป็นพระอริยะเจ้าชั้นโสดาบันบุคคลนี่ ไม่เคยที่จะไปต่อล้อต่อเถียงกับใคร ไม่เคยไปต่อยใคร และไม่เคยผูกโกรธกับใครเสียด้วย จึงแน่นอนเหลือเกินว่า พระอริยะเจ้าชั้นนี่ ละสังโยชน์ได้ถึง ๔ องค์ คือ ๑ สักกายทิฏฐิ ๒ วิจิกิจฉา ๓ สีลัพพตปรามาศ ๔ โทสะ แน่นอนเหลือเกินนี่ เพราะฉะนั้นจึงว่าสำหรับพวกเราผู้ต้องการมรรค ผู้ต้องการผล ต้องให้สนใจที่สุดในเรื่องสงบผล ต้องพยายามมองเสมอ เราจะไปไหน เราจะมาไหน เราก็ต้องพยายามมองจ้องอยู่ที่ความรู้สึกของเรา ในเมื่อเราไปประสพอะไรทั้งหมดเราอย่ามองเหตุการณ์ ต้องมองดูจิตเสมอ เมื่อเหตุการณ์นั้นจะยั่วยวนชวนให้โมโหอย่างนี้ ตามธรรมดาแล้วมันจะต้องแพล่มออกมาหละทางปาก “มันด่าได้เราก็ต้องด่าซิ” แน่เป็นอย่างนั้นเสียอีก เอ๊ะ..เขาเขาเราได้ เราก็มีมือนี่ เขาเตะเราได้ขาเราก็ไม่ได้มัดนี่ เอาซี่ “ถ้าเอาไม่ได้ต่อหน้า เอาซี่ลับหลัง ก็ลอบกัดเสียเลย” ลองดูซี
             เมื่อหากเป็นอย่างนั้นก็เป็นลักษณะของปุถุชน แต่ทีนี้สำหรับเราเองไม่ต้องอย่างนั้น เราต้องดูอยู่ที่ใจของเรา เมื่อไปประสพสิ่งที่ยั่วยวนชวนให้โกรธเกิดมีความรู้สึกวูบขึ้นมาก มันเอาไม่ไหวนี่ ความรู้สึกมันแรงอยู่ เราก็ต้องสังเกตอาการของกายและวาจา เมื่อกายและวาจาจะแสดงอาการอย่างนั้น เราก็ต้องรีบบังคับทันทีเลย “ไม่ยอม ไม่ยอม ให้นึกว่าไม่ยอม” เอ้า มันจะแค่ไหนว่างั้นเถอะ ไม่ยอมให้พูดเป็นอย่างนั้น แล้วก็บังคับมันออกมาให้พูดให้ดี ให้อ่อนหวาน แต่ไม่ใช่เรากลัว ถ้าจะพูดว่ากลัวก็กลัว “แต่ว่าทีทำนี้เราต้องนึกถึงว่าชั้นเชิงลวดลายของนักปราชญ์บัณฑิต” ท่านเป็นอย่างนี้ ท่านไม่ได้เอาชัยชนะที่ไหนหรอก ท่านเอาชัยชนะตัวเอง “คำว่าเอาชัยชนะตัวเองนั้นเอาชัยชนะอะไร เอาชัยชนะความรู้สึกที่จะเป็นไปเพื่อทุกข์ เป็นไปเพื่อความเศร้าหมอง” ความรู้สึกดังกล่าวนี้แลเป็นสิ่งที่เราควรเอาชัยชนะ พร้อมทั้งอาการของกายและวาจา ที่เป็นไปตามความรู้สึก และความรู้สึกอันนี้สามารถเข็นไปด้วยอำนาจของมัน เราไม่ยอมให้เป็นไปอย่างนี้ เรามุ่งจะเอาชัยชนะอย่างนี้ บัณฑิตท่านจะเอาชัยชนะอย่างนี้ เรียกว่าผู้ประเสริฐที่สุด และชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ไม่มีอันไหนที่จะมาเสมอเหมือน พูดกันอย่างง่าย ๆ
            ที่นี้เราผู้มาบำเพ็ญก็ต้องการจะให้เป็นเหมือนบัณฑิต คือพระพุทธเจ้า เราก็ต้องเอาอย่างของบัณฑิต เราไม่ได้เอาอย่างปุถุชน ถ้าจะเอาอย่างของปุถุชนเขาด่าเราได้เราก็ต้องด่าเขาได้ เขาต่อยเราได้เราก็ต้องต่อยเขาได้ เขาเตะเราได้เราก็ต้องเตะเขาได้ เอาเขาเตะเราเราก็ต้องเตะเขา อะไรในทำนองนี้ ท่านเรียกว่าลวดลายหรือชั้นเชิงของปุถุชน
             แต่สำหรับลวดลายหรือชั้นเชิงของบัณฑิตนั้น ท่านเอาชัยชนะตัวเองนี่ ที่นี้เราอยากจะเป็นบัณฑิตหรืออยากเป็นปุถุชน เราอยากเป็นบัณฑิตเราก็ต้องเอาอย่างของบัณฑิตนี้ ก็มีอย่างนี้ ที่นี้การเอาอย่างของบัณฑิต เราก็ต้องดำเนินอย่างนี้จึงจะเป็นผู้เจริญรอยดำเนินตามอย่างของบัณฑิตได้ นี่มีอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงว่าพูดถึงผลอันแท้จริง ในทางการดำเนินของพวกเราแล้วเล่า พวกเราก็ต้องเอาอย่างนี้ นี่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอาตมาจึงได้สอนในเบื้องต้นว่า ขอให้พวกเราสร้างสติขึ้นมาให้สมบูรณ์ ในอุบายวิธีที่อาตมาสอนให้สร้างสตินั้น เราจะสร้างแบบไหนก็สอนหมดแล้ว ตลอดการทดสอบสติ การที่หนึ่ง การที่สอง การที่สาม อาตมาก็อธิบายให้ฟังแล้ว ทีนี้ต่อจากนั้นไปเมื่อเราได้สติสมบูรณ์ดีแล้ว เราเอามาใช้กับอะไรนี่ สติกับปัญญานะ อาการเคลื่อนไหวของกายและวาจาท่านเรียกว่ามารยาทางกายและวาจา นี่เป็นของสำคัญ เราก็ต้องเอามาแต่ง มาแต่งทางกายและวาจาของเรา เราแต่งแบบไหน ก็อย่างที่อธิบายสู่ฟังนี่เอง เราจะลุกจะเหินเราจะเดิน เราจะนั่ง เราจะนอน ตลอดอยู่ฉันลิ้มเลียอะไรต่าง ๆ ทั้งหมดนี่แหละ เราต้องเอามาแต่ง คือว่าก่อนที่เราจะทำอะไรทั้งหมดให้มีสติเป็นเบรกยับยั้งก่อน แล้วก็ใช้ปัญญาสอดส่องตรองพิสูจน์ ว่าจะน่าเกลียดไหม เหมาะสมไหมกับเพศ วัย ฐานะของเรา เราต้องสอดส่องเสียก่อน ไม่ใช่ว่าเกิดมีความรู้สึกขึ้น ก็ให้ความรู้สึกเข็นเอาอาการอันนี้ให้เป็นไปตามอำนาจของมัน ไม่ใช่อย่างนั้น นี่เราก็ต้องบังคับอย่างในทำนองที่อาตมาว่ามานี่ เรื่อยไป ๆ ๆ ให้ชำนิชำนาญเป็นการทดสอบทดลองไปในตัว เราจะก้าวจะเหินจะเดินตรงไหนก็ให้มีสติกำกับอยู่ในตัวเรื่อย ตรวจตราดูเสมอทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ตลอดกิจการงานที่เราทำก็ให้มีสติคลุมอยู่อย่างนั้น ทีนี้ต่อจากนั้นไปเขาพูดอะไรกับเราซึ่งเรามีสติอยู่ในตัวเราก็รู้หมด เขาพูดมีความหมายอย่างไร บทบาทชั้นเชิงที่แสดงมาแบบไหนอย่างไร “เราอ่านได้หมด พอเราอ่านได้ ความรู้สึกของจิตเราจะเป็นอย่างไรที่นี้ต่อไป” เมื่อความรู้สึกของจิตมันเป็นอย่างนี้ เราพอที่จะแก้ไขได้ไหม เมื่อไม่มีทางสามารถที่จะแก้ไขความรู้สึกของจิตได้เราต้องรอบังคับ อาการของกายและวาจาให้ได้ อย่าให้เป็นไปตามความรู้สึกอันนั้น ในเมื่อจะเป็นไปเพื่อความเสียหาย” นี่เป็นอย่างนี้
            ที่นี้เมื่อความรู้สึกใดเป็นไปเพื่อผลประโยชน์อันดีงาม คือเป็นไปในทางบุญกุศล เราก็ต้องพยายามบังคับเข้า ในเมื่อจิตจะท้อถอย มันนึกได้มันจะท้อถอยรีบบังคับเข้า
             เพราะฉะนั้น ทั้งทางดีและทางชั่วเราต้องบังคับ อันหนึ่งบังคับออก อันหนึ่งบังคับเข้า นี่มันมีอยู่อย่างนี้ ทีนี้พวกเราดำเนินอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป เรามองดูสิผล มองดูซี “ความงามของเรา ซึ่งอาการของเราที่จะเดิน เหิน นั่ง ยืน ทั้งหมด จะมองเห็นได้ว่างามแล้ว งามเหมาะสมมาก” ทีนี้ต่อจากนั้นไป ส่วนความรู้สึกของจิตเมื่อเราเอาชัยชนะได้ทีนี้ ความรู้สึกของจิตที่มันนำพาให้เรารุนแรงหรือเป็นไปอะไรต่ออะไรต่าง ๆ เช่น พวกเรามีเวรมีกรรมต่อกันก็ดี หรือว่าเป็นศัตรู คู่อริต่อกันก็ดี เนื่องจากว่าเราลุอำนาจความรู้สึกอันนี้ จึงเป็นเหตุให้สร้างความไม่ดีขึ้นมาอะไรทำนองนี้ เมื่อหากพวกเราทำได้อย่างนี้ ต่อจากนั้นไป เรื่องกำหนดเข้าสู่ความละเอียดมันก็ง่ายขึ้น มันก็ง่าย ผลสุดท้ายกำหนดก็ได้ที่ ๆ เลย เมื่อได้ที่ทีนี้เราก็พิสูจน์ได้เลย เทียบเท่าเป็นลำดับว่า ความรู้สึกของเราซึ่งเราสามารถหยั่งกระแสเข้าไปสู่อันดับนี้ เทียบเท่ากับเทพเจ้าของชาวโลกทิพย์ทันทีเลย ทีนี้เราจะหลงไหลไหม ในความเป็นอยู่อย่างนี้ เราก็มองอีกต่อไป มันจะมีความรู้ชัชวาล มองเห็นสิ่งต่าง ๆ บ้าง แล้วก็มีความสุข ปลื้ม เพลิดเพลินอะไรต่าง ๆ มันหากมี ถ้าเรากำหนดเข้าไปเราเห็นเองหละ
            ที่นี้เราพยายามหาทางแก้ไขปรับปรุงเช่นกันนี้อีก จิตของเราก็สามารถตกกระแสเข้าไปอีก อันดับที่สอง ที่สาม ไปเรื่อยเป็นลำดับ แต่ถ้าหากพวกเราลืมในวิธีทำเบื้องต้น ต่อไปเราก็ทำไม่ถูกอีก เมื่อเราทำไม่ถูกเราก็ไปติดอีกแหละ ติดอีก เพราะฉะนั้นจึงว่า “กิเลสภายนอกได้แก่กามกิเลสอย่างหยาบ ๆ นี้ เราทำลายได้แล้ว ยังเหลือกิเลสส่วนละเอียดข้างหน้า ได้แก่ วิปัสสนูปกิเลส มันรอดักเล่นเราอยู่ข้างหน้าเยอะแยะ”
             เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราผู้ปฏิบัติให้สำคัญอย่างนี้ให้มากที่สุด เท่าที่จะสำคัญได้ แต่สำหรับการกำหนดดังกล่าวโดยจุดประสงค์ก็อย่างที่อธิบายสู่ฟัง เป็นเบื้องต้นก่อน ไม่ใช่ว่าไม่ให้กำหนดนะ ให้กำหนด ให้ทำอย่างนั้นแหละ พยายามบังคับไว้แต่โดยจุดประสงค์ของเราก็ขอให้มีจุดประสงค์เสียงแค่อาตมาว่านี่ และต่อจากนั้นการทำสมาธิของพวกเราก็จะรวดเร็วขึ้นเป็นลำดับ นี่ก็มีอย่างนี้
เพราะฉะนั้นใครสงสัยตรงไหนอีก ใครสงสัยอีกลอง ๆ ว่าดูซิ แต่นี่มันนานไปมันเลยหมดสุดกำลัง มันสุดแล้วก็หยุดกันไปดื้อ ๆ ไม่ใช่อย่างนั้น อันนั้นท่านเรียกว่าหยุดกันโดยธรรมชาติ
             แต่นี้มันมีกำลังธรรมชนิดหนึ่งเข้าไปแก้ไข พอมันเกิดวูบขึ้นมาอย่างคุณครูใหญ่ว่า นึกได้ปุ๊บมันก็ตกยูบไปเลย เขาด่าเราปุ๊บ นี่มันรู้สึกวูบขึ้นมา ปุ๊บตก มีความรู้ขึ้นมาตกวูบ ผลสุดท้ายคนนั้นไม่มีการผูกโกรธ ไม่มีผูกโกรธเลย ผูกโกรธไม่เป็น โทสะที่จะแสดงออกมาหน้าดำตาแดง ไม่มี ในลักษณะนี้และเรียกว่าโสดาบัตติผล ทีนี้เราจะเอาสงบผลหรือสงบฐานกัน ถ้าสงบผลก็ต้องแบบนี้ นี่เป็นไปเพื่อมรรคผลอย่างหนึ่ง แต่โดยส่วนมากถ้าไปพูดให้คนที่เขาชอบในทางสงบฐาน เขากำหนดอย่างนั้น แล้วครูบาอาจารย์เขาก็ได้แต่แค่สงบฐาน ก็อบรมสั่งสอนไปทางสงบฐานอย่างเดียว เมื่อมาได้ยินอย่างนี้ก็ไม่มีรสชาติ หัวเสียไม่ยอม แต่แท้ที่จริงไม่ได้การสอนด้านสมาธิจิตนี่ไม่เหมือนกัน เพราะความเข้าใจของครูอาจารย์นี่ไม่เหมือนกัน ความเข้าใจไม่เหมือนกันจึงได้สอนไม่เหมือนกัน แล้วก็แนะนำให้ลูกศิษย์ที่มีความสมัครหรือขึ้นอู่กับตนเอง ให้เป็นไปเท่าที่ตัวเองรู้สึกนั่นแหละ จึงเป็นเหตุให้ผู้บำเพ็ญมีผลของสมาธิจิตไม่เหมือนกัน สิ่งที่รู้เห็นก็ไม่เหมือนกัน แล้วก็แปลกอย่างที่ว่า อาตมาก็เคยรู้เห็น แหมบางคนเล่าถึงเรื่องสมาธิจิตนี่โอ้โห น่าฟังเหลือเกิน แต่มองถึงผลที่แท้จริงแล้ว เอ ทำไมหนอช่างไม่เหมือนพระอริยะเจ้าตั้งแต่สมัยพุทธกาล หรือว่าการทำสมาธิในยุคนี้สมัยนี้ มันผิดแผกจากครั้งสมัยพุทธกาลหรือ หรืออย่างไร ถ้ามาพิจารณาดูแล้วก็คือว่ามุ่งในการสงบฐานเกินไป แล้วก็ทางสงบผลนี่ก็ไม่เหลียวแล พูดอย่างง่ายที่สุดก็คือว่าแทนที่จะหาทางแก้ไขสิ่งที่ก่อกวน ได้แก่ อาสวะกิเลสนี่แหละ แต่แล้วกับไม่ได้แก่ไขเลย ปล่อยให้อำนาจของอาสวะกิเลสเข้ามาเป็นเจ้านาย แล้วก็นำพาอาการทั้งหมดเป็นไปตามกำลังของมัน ก็แสดงให้เห็นว่ายังได้รับความทุกข์อยู่ตลอดไป นี่มันเป็นอย่างนี้ สำหรับบรมสุขอันแท้จริง ก็เลยไม่เจอกันเลยนี่ มันสำคัญอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นขอให้บรรดาพวกเราทุกท่านนี่ อาตมาขอชักชวนเถอะ ให้พยามยามพิสูจน์ให้มาก หรือหากอาตมาพูดผิดก็จะไม่เอาไปเป็นอารมณ์หรือคติตัวอย่าง ก็แล้วแต่ หรือหากว่าสมัครก็ขอให้จดจำแล้วนำไปพิจารณาให้ดี ๆ า เท่าที่อาตมาแนะแนวให้นี้จะเป็นไปเพื่อผลอันดีงามหรือเปล่า แล้วก็มองถึงผลอันแท้จริงของพระพุทธเจ้าพระอริยะเจ้าว่าท่านได้ผลอันแท้จริงนั้น ผลนั้นคืออะไร ขอให้พวกเราหาทางหลับตาแล้วก็ค่อย ๆ สอดส่องตามประวัติแล้วพวกเราก็จะได้มองเห็นชัดว่า สำหรับพระพุทธเจ้าพระอริยะเจ้าที่พวกเราทราบกัน คำที่ว่าท่านได้นามว่า พระอรหันต์ ก็แปลว่าผู้ไกลกิเลส แล้วลักษณะของกิเลสคืออะไร พวกเราก็ทราบกันชัดอยู่แล้ว อย่างที่อธิบายให้ฟังเมื่อกี๊นี้ เพราะฉะนั้นเมื่อพวกเราเข้าใจแล้วทราบแล้ว ก็ลอง ๆ น้อมนำเอาโอวาทหรืออุบายวิธีที่อาตมาให้มานี้พิสูจน์อีกทีว่า เทียบกับผลของพระอริยะเจ้า แล้วก็มามองถึงสายบรรทัดการดำเนินของพระอริยะเจ้าว่า ท่านดำเนินไปสายไหนกันแน่ ซึ่งสายของท่านเมื่อเรามอง ๆ เห็นแล้ว จะมองเห็นชัดว่า อุบายวิธีที่อาตมาแนะนำให้นี่ อาจจะดำเนินตรงตามแถวที่พระอริยะเจ้าท่านดำเนิน แล้วเมื่อเราดำเนินตามแล้วก็เท่ากันกับว่าเราเจริญรอยตามพระอริยะเจ้า มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานถูกต้อง ไม่ผิด อาจจะมองเห็นอย่างนี้ก็ได้ แต่สำหรับผู้ที่มองเห็นตรงข้ามก็อันนั้นก็แล้วแต่
            แต่สำหรับอาตมา เชื่อเหลือเกินว่าเมื่อพวกเรามองกันจริง ๆ แล้ว จะมองเห็นได้ว่าที่อาตมาให้อุบายวิธีนี้ มันตรงตามแนวของพระอริยะเจ้า สำหรับอาตมาเข้าใจอย่างนี้ นี่แหละ..สำหรับอาตมาอธิบายสู่ฟังก็ดูเหมือนจะยืดยาวแล้วนะ แล้วก็อาตมาก็ขอยุติ เพียงแค่นี้แหละนะ

ณ วัดเขาสุกิม
๒๒ ตุลาคม ๒๕๐๙


หน้าแรกธรรมะ
กระดานข่าว
ลงสมุดเยี่ยม
อ่านสมุดเยี่ยม
ผู้เขียน

เชื่อมโยงกัลยานิมิตร >>
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว / สมเด็จพระมหาสมณเจ้า / พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร / พุทธประวัติ, พุทธโอวาท / ธรรมะพุทธองค์ / พุทธศิลป์ โดย อ.เฉลิมชัย / ธรรมะจากพระป่า / กองทัพธรรมพระกัมมัฏฐาน / ประวัติหลวงปู่มั่น / หลวงตามหาบัวช่วยชาติ / จังหวัดจันทบุรี / อำเภอนายายอาม / รอยยิ้มของพ่อ

เหมาะสำหรับจอภาพที่แสดงผลที่ 800 x 600 และเพื่อความสวยงามยิ่งขึ้นหากแสดงผลที่ 1024 x 768 (Microsoft Internet Explorer)
วัดเขาสุกิม
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2543

พัฒนาและออกแบบโดย นายทวีศักดิ์ รัตนคม    
ติดต่อสอบถามได้ที่ webmaster@khaosukim.org   
และทาง msn ได้ที่ hs2wjo@hotmail.com