หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
ประธานสงฆ์วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี
เรื่อง : ควรทำความเพียรเสียแต่วันนี้

        อัชเวะกิจจะมาตัปปัง (ควรทำความเพียรเสียแต่วันนี้ – เดี๋ยวนี้)
            จุดประสงค์จะให้ความเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์ จงเพียรในการละบาปเจริญธรรมที่ควรเจริญ ให้เป็นไปพร้อมทั้งกายและจิต บากบั่นให้คุณธรรมเพื่อการข้างหน้า ทั้งเป็นคุณธรรมที่อาจฝ่าฟันอุปสรรคอันเกิดขึ้นในปัจจุบันเสียได้ ความสำเร็จประโยชน์ย่อมมีผลแผ่ไพศาล ซึ่งคุณธรรมการกชนจะพึงรีบกระทำเสียแต่วันนี้ มีตนมีกิจธุระจะพึงทำโดยแท้
            คำว่า มาตัปปัง ในบาลนี้ มีนัยจะพึงบรรยายให้สองสถาน คือ เพียรแสวงหาประโยชน์อันเป็นไปในคติโลกอย่างหนึ่ง ในทางคติธรรมนิยมอย่างหนึ่ง ข้อต้านได้แก่ความเพียรของผู้อยู่ครองเรือน เรียกว่า อาฏะฐานะสัมปะทา การถึงพร้อมด้วยการหมั่นเพียร มีผลให้เกิดความกล้าหาญ ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก หลีกเลี่ยงเพราะความเกียจคร้าน ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ความเพียรเช่นนี้เข้าอุดหนุนกิจการใด ๆ กิจการนั้นย่อมไม่ถึงการทอดธุระเสียในระหว่าง มีแต่ความดำเนินไปสู่ความสำเร็จโดยส่วนเดียว ผลนั้นที่ไดพึงถึงก็งอกงาม สมควรแก่การกระทำของตน เป็นกิจที่ชนทั้งหลายทั่วไปปรารถนา เพราะเป็นเหตุอำนวยผลให้เกิดมีโดยเอนกประการฉะนี้
            ส่วนคติธรรมนิยม จัดความเพียรนี้ไว้อีกอย่างหนึ่ง เป็นทางไปของคน ๆ เดียวกันเอง หรือเรียกว่าได้อีกประการหนึ่ง ประทานความเพียรไว้ ๔ สถาน คือ เพียรมีสติ ระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดานของตน เป็นต้น บาปกรรมเกิดมาจากความรักและความชัง รักต้องการอยากได้ ชังไม่ต้องการไม่อยากได้ ทั้งสองมาจากโมหะคือความหลง ความรักเป็นไปในทางราคะ ความชังเป็นไปในทางโทสะ มาจากโมหะ คือ ความหลง ทั้งสามเป็นไปหรือเชื้อของภพ ความจริงราคะ โทสะ โมหะ อยู่ที่จิต จิตจึงเป็นตัวก่อภพหรือจิตโง่ จึงเป็นเหตุให้อวิชชาห่อหุ้ม เมื่ออวิชชาห่อหุ้มได้ร้อน จิตที่ได้รับความร้อน คือ โมหะจิต จึงเป็นเหตุให้ตัณหาอุปาทานผูกมัดจิตไว้อย่างแน่นหนา จึงเป็นเหตุให้ติดอยู่กับโลก พระพุทธเจ้าจึงได้สอนให้ความเพียรเป็นกำลังอุดหนุนสติเข้าไปทำการชำระจิต ที่ถูกผูกพันธนาการอยู่นี้ให้หลุดไป และเพียรพร้อมด้วยสติ ระวังอย่าให้กิเลสดังที่จะกล่าวมานี้ผูกมัดจิตได้อีก นี้กล่าวโดยปุคคลาธิฏฐาน ถ้ากล่าวโดยธัมมาธิฏฐานแล้ว จิตที่โง่ก่อภพเอาเองโดยความโง่ของจิต เพราะเหตุนั้นพระพุทธองค์จึงได้สอนให้มีความเพียรพร้อมด้วยสติ เข้าไปทำลายภพของจิต และป้องกันจิตไม่ให้แสดงต่อภพ โดยมีความเพียรและสติเข้าไปห้ามความดีใจ เสียใจที่แสดงออกมาจากจิตให้ได้ ความเพียรและสตินี้เมื่อสาธุชนอบรมไว้ให้มากแล้ว ในวาระจิตจะเรียกว่าผู้ละสิ่งที่ไม่สาระประโยชน์ คือเหตุให้เกิดโทษทุกข์ทั้งปวงได้ ยึดเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระประโยชน์ไว้
            ดังเทศนาในจติกนิบาตอังคุตรนิกาย ว่า อัตถังประวัชเชติ อัตถังคัณหาบัณฑิโต บัณฑิตย่อมละเว้นในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คือเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ตามนัยแห่งบาลีนี้ ได้แก่สาธุชนผู้ปรารถนาความเพียรในสภาพทั้งสี่ โดยอาการ ได้แก่ การกำจัดไฟภายใน และมีสติป้องกันไฟภายนอกไม่ให้เข้ามาภายใน ประกอบตามกุศลจิต คือธรรมฝ่ายเย็นเข้ามาแก้ธรรมฝ่ายร้อน และมีสติตั้งมั่นเข้าไปชำระจิตให้หมดจดจากกิเลส คือ กองไฟเสียได้ จึงเป็นจิตที่บัณฑิตจะพึงอบรมให้มาก สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสให้รีบกระทำเสียแต่วันนี้ เพราะพระองค์ไม่ทรงมั่นพระทัยว่าสังขารทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้นนี้จะตั้งมั่นถาวรอยู่ได้นาน ความแตกทำลายมันจะพึงปรากฏขึ้น ให้มีสติระลึกถึงความตายเร็วขึ้น เสมือนจะแตกดับเสียในขณะยังไม่ถึงวันพรุ่งนี้ก็เป็นได้ เป็นอุบายแก้จิต เมื่อมันท้อถอยเพราะความเกียจคร้าน เนื้อความของกระทู้ธรรมนี้พระมหากัจจายนเถระ เป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลม แล้วท่านได้ได้เอาอุบายอย่างนี้ และท่านก็ทำอย่างนี้ จึงเป็นเหตุให้สำเร็จพระอรหันต์ และท่านได้ให้แนวปฏิปทานี้แก่ผู้ปฏิบัติในสมัยนั้นอย่างนี้ จนได้รับความสรรเสริญจากพระบรมศาสดา และได้ทรงสถาปนาตำแหน่งเลิศในปฏิภาณสถานหนึ่ง และท่านยังจัดว่าเป็นความเพียงของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ เป็นเหตุให้บารมีของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์บริบูรณ์ คิดดูชั้นต้นพระมหาบุรุษ เมื่อทำกิริยาก็ดำเนินอย่างนี้ จึงเป็นเหตุให้สำเร็จพระโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นในโลก แล้วนำเอาอุบายที่พระองค์ชำระจิตของพระองค์ด้วยอาศัยความเพียร สติเข้าไปทำลายภพของจิต หรือดับไฟภายในจนไม่เหลือหลอ มาประกาศให้พุทธเวนัยทั้งหลาย
            เพราะเหตุนั้น ความเพียร พระองค์จึงจัดว่าเป็นมีอุปการะคุณ อุดหนุนให้ผู้ทำสมาธิเข้าถึงสมาธิที่ ๑ - ๒ - ๓ จนถึงรูปฌาน ๔ ครูปฌาน ๔ จนถึงที่สุดภพได้เป็นผลอันพึงพอใจ ควรรีบกระทำเสียแต่วันนี้ จนกว่าจะสำเร็จความปรารถนา ถ้าคนใดทอดธุระเสียก็เป็นเหตุให้เกิดความท้อแท้ใจ การงานย่อมคั่งค้าง ผลของการท้อแท้นั้นมีผลน้อย หรือไม่อำนวยผลเสียเลยก็เป็นได้ การกชนและภยันตรายรอบข้างของกิจการพระบรมศาสดาได้ประทานโอวาท ดังอธิบายมานี้
พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย
ได้เขียนไว้เมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๐๘


หน้าแรกธรรมะ
กระดานข่าว
ลงสมุดเยี่ยม
อ่านสมุดเยี่ยม
ผู้เขียน

เชื่อมโยงกัลยานิมิตร >>
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว / สมเด็จพระมหาสมณเจ้า / พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร / พุทธประวัติ, พุทธโอวาท / ธรรมะพุทธองค์ / พุทธศิลป์ โดย อ.เฉลิมชัย / ธรรมะจากพระป่า / กองทัพธรรมพระกัมมัฏฐาน / ประวัติหลวงปู่มั่น / หลวงตามหาบัวช่วยชาติ / จังหวัดจันทบุรี / อำเภอนายายอาม / รอยยิ้มของพ่อ

เหมาะสำหรับจอภาพที่แสดงผลที่ 800 x 600 และเพื่อความสวยงามยิ่งขึ้นหากแสดงผลที่ 1024 x 768 (Microsoft Internet Explorer)
วัดเขาสุกิม
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2543

พัฒนาและออกแบบโดย นายทวีศักดิ์ รัตนคม    
ติดต่อสอบถามได้ที่ webmaster@khaosukim.org   
และทาง msn ได้ที่ hs2wjo@hotmail.com