หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
ประธานสงฆ์วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี

เรื่อง : อุบายวิธีทำลายฐานกิเลส

                บางทีนึกอยากจะคุยธรรมะ แต่เมื่อมานึกถึงเสียง มันก็ไม่ไหว คุยได้คำสองคำก็ต้องหยุดหายใจ ถ้าคุยยาว ๆ มันก็ไปไม่ได้ ลบมันไม่พอและก็คอหายไม่ดี และก็คิดว่าถ้าปกติคอหอยดีเรียบร้อยละก็จะได้คุย แต่ยังไงก็ขอให้ตั้งใจเถอะ เราก็ฟังกันมานานเหลือเกินแล้ว ปฏิปทาข้อปฏิบัติ อันที่จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เป็นอุบายวิธีทำลายฐานกิเลส พวกเราก็เข้าใจกันดี จุดมุ่งหมายของเราก็รู้อยู่แล้ว ก็มุ่งทำลายฐานกิเลสหรือตัวภพของจิต ฐานกิเลสก็เล่าให้ฟัง ให้ฟังแล้วว่าอยู่ไหน ถ้าพวกเราไม่พะวงในเรื่องธรรมะอยู่ที่ตำราหรืออยู่ที่ตัวเรา หรือเป็นสิ่งวิเศษบินมาจากฟากฟ้าละก็ คงจะมองออก ฐานของกิเลสภายในมี ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัวสำคัญก็มีอยู่ ๖ อย่าง ฐานใหญ่ ๆ ของเค้า ส่วนคู่ของฐานที่เกิดขึ้น ตามันก็คู่กับรูป สิ่งที่เห็นด้วยตา หูมันก็คู่กับเสียง จมูกมันก็คู่กับกลิ่น ลิ้นมันก็คู่กับรส กายมันก็คู่กับสัมผัส ใจมันคู่กับอารมณ์ มันก็เป็นคู่ ภายนอกมีอยู่ ๖ อย่าง ซึ่งเป็นสิ่งหลอกกัน เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดกิเลสขึ้นมาได้ ในเมื่อเราเข้าใจธรรมะเป็นเรื่องของบุคคล เป็นเรื่องตัวของเรา หรือเป็นเรื่องของความคิดไปติดต่อสิ่งกระทบ ถ้าเราเข้าใจถูกต้องตามสภาพของความเป็นจริงแล้ว เราก็คงจะไม่ไปหลงตำรา เราก็คงดูธรรมะของจริงที่มันมีอยู่ในเรา ตาเห็นรูปเป็นยังไงหละ ถ้ารูปสิ่งที่พอใจก็อยากได้ มันก็มีแค่นั้น มันอยากได้ ความอยากได้เป็นกิเลส ถ้าเราอยากได้มันไม่ได้มันก็เป็นทุกข์หรือในเมื่อเราได้มาแล้ว สิ่งที่เรารักก็ต้องพิถีพิถันคือต้องรักษาให้มันเป็นอยู่ มีอยู่ คงอยู่ มันก็เป็นทุกข์ ไอ้สิ่งที่ตามมามันก็คงไม่เกินทุกข์ ก็คือทุกข์เอง และสิ่งที่เราเห็นนั้นมันคืออะไร ทำไมจึงไปหลง เราพยายามตามคิดไปเรื่อย ๆ สิ่งที่หลงนั้นนะเป็นวัตถุ หรือบุคคล ถ้ามันหลงเป็นบุคคลมันหลงว่าไง หลงว่าสวย สวยจริงหรือ อันนี้คืออะไรกันแน่ อันนี้มันคือธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์เหล่านี้เป็นไปอยู่ได้โดยอาหาร อาหารอันที่มาหล่อเลี้ยงคืออะไร ไล่ไปมองให้ดี ๆ ในเมื่อเรามองให้ดี ๆ พิจารณาแล้ว สิ่งที่มาหล่อเลี้ยงเขาก็ล้วนเป็นของสกปรก ก็ได้แก่พวกหมู เห็ด เป็ด ไก เราก็ย่อมรู้ดี สภาพของความเป็นจริงของเขาแล้วเป็นสิ่งสกปรก แต่แกงออกมาใหม่ ๆ ละก็หอมนะซี้ น่าอยาก น่าฉันท์ แต่ว่าสักประเดี๋ยวพอได้อายุละซิเค้าจะเหม็นบูด เหม็นเปรี้ยว เหม็นเน่า พอมันลงคำว่าเหม็นแล้วนี่ เอาไม่ได้เลย สภาพของความเป็นจริง ถ้าเค้าไม่ได้ไปอยู่ในท้องหรอก เค้าอยู่ในภาชนะเค้าก็ต้องแปรสภาพ คือความจริงของเค้ามันอย่างนั้น
                ฉะนั้นเราเอาเข้ามาหล่อเลี้ยง สิ่งนั้นก็คือของสิ่งนั้น ในเมื่อเรามาวิเคราะห์แล้วสิ่งที่หลงนั้น เป็นของสะอาดหมดจดจริงหละรึ หรือเป็นของสกปรก เราก็ต้องตามใจของเรา หรือเราหลงตรงไหนมัน อะไรมันดีก็ไล่มันไปเลย เอาจนกระทั่งจิตของเราจำนน ไล่เข้าไปเถอะ มันหลงเรื่องอะไร ไล่เข้าไปที่ฐานจนกระทั่งเค้ายอมรับว่า โอ…สภาพอันนี้เป็นสภาพที่ไม่สวย ไม่งาม เป็นสภาพที่ต้องแตกต้องดับ เป็นเพียงแต่ธาตุประชุมกันอยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็สลายไปแล้ว ก็เหมือนเราไปรักกิน รักก้อนดิน รักธาตุ รักขันธ์ มันไม่มีความหมายอะไรนี่ ในเมื่อใจของเรารับ เข้าใจตามสภาพของความเป็นจริง ความพะวงความเป็นกังวลในสิ่งนั้นมันก็หมดไป มันหมด ที่เราจะเป็นทุกข์ เพราะจะบังเกิดผลเสีย เราเป็นทุกข์เพราะความกระวนกระวาย มันจะหมดไปเอง มันไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นแล้ว เพราะเราเข้าใจสภาพของความเป็นจริงในสิ่งนี้ ตลอดวัตถุอื่นๆ ที่เราต้องการก็เช่นกัน มันก็เหมือนกันหมด อันนี้หมายความว่าสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่เราเห็นด้วยตา ไม่ต้องการมันก็เป็นทุกข์ สิ่งนี้เราปรารถนา มันมาให้เราเห็น เราได้เห็นมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน คือว่าแล้วก็คือทุกข์นั่นเอง แล้วสิ่งนั้นทำไมหละเราถึงไม่ชอบมัน เป็นเพราะอะไร เป็นวัคถุหรือบุคคล วัตถุก็ดี บุคคลก็ดี ที่เราไม่ชอบเป็นเพราะอะไร ก็ไล่มันเข้าไปให้มันยอมจำนน คือสภาพอันนั้นกับอันที่เรารักมัน ก็เหมือนกันนั่นเอง อะไรเหล่านี้ อันนี้เราก็ไล่มัน ไล่เบี้ยมันเข้าไป จนใจของเราจำนน อันนี้
                หูก็เช่นกัน ในเมื่อหูได้ยินเสียง เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงที่น่ารัก เสียงที่น่าปรารถนา เราก็ดีอกดีใจกระโดดโลดโผน ความดีใจนั้นก็เป็นกิเลส เพราะความดีใจจะไปคู่กับเสียใจ ถ้าเราเกิดรักสิ่งนี้ ไอ้สิ่งที่ตรงกันข้ามก็เกลียดชัง คือเสียงที่ไม่ไพเราะ เปรียบเสมือนอย่างนี้ เค้าชมเราเราก็เกิดรัก พอใจดีใจกับคำชม แสดงความเป็นมิตรกับคนที่ชม แต่คนที่เค้าตำหนิยกโทษ เราก็โกรธเกลียดมัน ตั้งตัวเป็นศัตรูกับมัน ไม่อยากมองหน้ามัน ไม่อยากเห็นหน้ามัน มันก็มีแค่นั้น ในเมื่อเราได้ยินมักก็มีอยู่ว่าชัง รัก ดีใจ เสียใจ กลับเฉย ๆ เท่านั้น มันก็มีแค่นั้น เราต้องไล่เข้าไปให้ถึงฐาน เขาด่าเราเรามันเป็นยังไง เค้าด่าเราว่าอย่างไรหละ เค้าว่าเราชั่ว เราชั่วไหม ถ้ามันไม่ชั่ว เขาว่าเราชั่วมันก็ไม่ได้ชั่วอย่างที่เขาว่า หรือมันชั่วไล่มันเข้าไป พระพุทธเจ้าเขาติหรือเปล่า ท่านวิเศษกว่าเรามากมาย ทำไมเขาถึงติได้ เราก็ไล่เปรียบเทียบกันไปเรื่อย ๆ คิดว่าจะจำนนเอง ก็มันมีแค่นั้น ทั้งสิ่งที่น่ารัก ไม่น่ารัก ก็ไล่มันเข้าไปก็แค่นั้น อันนี้หมายถึงเสียงกับหู กลิ่นเค้าคู่กับจมูกก็เหมือนกัน ถ้าได้กลิ่นหอม ๆ ละก็แหม อยากจะหา แต่ถ้าตรงข้ามก็เกลียดมันแค่นั้นแหละ มันก็มีแค่นั้น แล้วก็วิเคราะห์ อันนี้ได้ความจริงว่าสภาพนี้มันคืออะไร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ให้มันได้ความเช่นกัน ลิ้นก็เหมือนกัน อาหารอันโอชาก็อยากฉันท์ วันนี้ไม่มีก็ถามหาหรืออยากหามาไว้ อันที่ไม่เอร็ดอร่อยก็ไม่ปรารถนาไม่เอา ไม่ต้องการ มันก็อยู่แค่นั้น ต้องพิจารณาดูให้ดี ๆ ว่าเราจะฉันท์เพื่ออะไร ฉันท์เพื่อความอยู่รอด ฉันท์เพื่อความเป็นอยู่ ฉันท์เพื่อให้มีกำลังวังชา เพื่อจะปฏิบัติกิจของพระศาสนา กอบโกยในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ในสิ่งที่เป็นบารมี เราต้องวิเคราะห์ให้มันถูก เจตนาตัวนี้ ตัวสำคัญ เจตนาผิดก็เป็นกิเลส ผู้มีเจตนาที่ถูกต้องก็ไม่เป็น ถ้าผู้ต้องการฉันท์เพื่อบำรุงผิวพรรณ ฉันท์ด้วยความหลงรสชาติ ไม่ได้วิเคราะห์ตามสภาพของความเป็นจริง ว่าสิ่งนี้แสลงต่อธาตุขันธ์เราไหม ปกติเคยฉันท์แล้วเป็นยังไง ลุอำนาจกิเลสเราไปดำเนินมันผิด ต้องนึกถึงคำว่า อาหาระสัปปายะ ฉันท์แล้วเกิดความสบาย อาหารที่เราฉันท์แล้วเกิดความสบาย สบายทั้งเข้าสบายทั้งออก สบายมันต้องมองหลายด้าน หลายฐาน จนกระทั่งภาวนาไม่โงกง่วง ไม่ซึม อาหารไม่ทับ ฉันแล้วปกติธรรมดา มันต้องมองหลายมุมกันเลย ทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องดำเนินไปตามความสบาย ตามหลักที่ว่า อาหาระสัปปายะ นี่มันเป็นอย่างนั้น
                โผฏฐัพพะ ตามสภาพของเขานั่นแหละ เหมือนกับให้เข้าใจจนกระทั่งอารมณ์ สิ่งทั้งหลายดังกล่าวมาทั้งห้า หมายความว่าภายในห้า ภายในนอกห้า มันก็สิบ ในเมื่อเราผ่านไปแล้วคิดถึงมัน เกิดความรู้สึกอย่างไรบ้าง ทางด้านจิตใจของเรามันเป็นอย่างไรบ้าง ดีใจ เสียใจ ตามเหตุการณ์ไหม หรือปัจจุบันที่แสดงอยู่เดี๋ยวนี้มันดีใจ เสียใจกับเหตุการณ์ไหม….อันนี้เป็นส่วนของใจ สำคัญที่สุดก็คือใจ….เค้าจะแสดงออกมายังไงต่อสิ่งกระทบ หลักใหญ่อยู่ที่ใจ ฉะนั้นเราต้องดูใจของเราว่าปัจจุบันเหตุซึ่งกำลังแสดงอยู่เป็นยังไง เราจากไปแล้วรู้สึกมันเป็นยังไง มันรู้สึกดีใจ เสียใจ กับสิ่งนั้นไหม เราก็วิเคราะห์ หากในเมื่อเราสร้างอำนาจส่วนนี้สมบูรณ์ขึ้นมา สามารถประคองจิตของเราให้อยู่ในอำนาจส่วนนั้นแล้ว รู้สึกจะไม่มีปัญหาทุกสิ่งทุกอย่าง เราวิเคราะห์ตามสภาพความเป็นจริง จิตจะยอมรับในเมื่อจิตยอมรับนี่เอง มันบอกไม่ถูกนะ มันบอกไม่ถูกว่าจิตของเรามันจะดิ่งลงยังไงกันบ้าง เราจะสบายขนาดไหน ทางด้านจิตใจของเราสบายที่สุด ขอให้ใจของเราสบายเป็นสำคัญ ทุกอย่างเราจะสบายไม่กังวล ไม่วุ่นวาย ไม่เป็นทุกข์ต่อสิ่งทั้งปวง มีแต่ความวางเฉย ด้วยความรู้เท่าหมด ไม่กระวนกระวายใจไม่ไผ่หา ไม่อยากได้ ไม่ดิ้นรน ปกติธรรมดา ๆ ส่งที่ได้ที่ถึงก็ถือว่าเป็นของที่ต้องผ่านไปชั่วคราว เดี๋ยวก็ต้องสลาย มันอยู่แค่นั้นแหละ อันนี้ขอให้พวกเราตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือการสร้างส่วนอำนาจส่วนบังคับให้สมบูรณ์ขึ้น เดินจงกรม นั่งสมาธินอนทำสมาธิ ยืนทำสมาธิ ให้รวบรวมกำลังอย่างที่เราทำให้กำหนดอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งของเราอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการปฏิวัติกับจิต ไม่ให้วิ่งไปต่ออารมณ์สัญญาภายนอก ให้รับรู้อยู่ที่จุด ได้ตังบังคับให้รับ รู้อยู่ที่จุดนั้น คือตัวตปธรรม ที่เราสร้างขึ้นมา ถ้าสมบูรณ์ดีแล้วก็สามารถบังคับได้เต็มที่ ถ้าบังคับได้เต็มที่แล้ว การโอปนยิกธรรม น้อมพิจารณาสภาพของความเป็นจริงเหล่านี้ ไม่ใช่ของยากเป็นของง่าย แต่หากในเมื่ออำนาจส่วนบังคับไม่พอ เรามาพิจารณาจะกลายเป็นเรื่องฟุ้งซ่านเปล่า ๆ ไม่ประโยชน์ ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เพราะจิตไม่ยอมรับ ก็มีแต่ความฟุ้งซ่าน
                เพราะฉะนั้น ขอให้รีบตั้งใจบริกรรมภาวนาหนักเข้า กำหนดเข้า กำหนดเข้าไป ในเมื่อมันเผลอสติ ก็กำหนดเข้ามาหาจิต อย่าไปโมโห อย่างไปกระแทกแดกดัน กำหนดเข้ามาดี ๆ ดำเนินกันไป เวลาเดินจงกรมก็กำหนดที่เท้าเหยียบ เท้าเหยียบพื้นพุทโธ พุทโธ ไปเรื่อย ๆ เอามันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดความสมบูรณ์ดีแล้ว สติกับจิตไม่หนีหน้าตัวอำนาจส่วนบังคับไปได้แล้วมันสบาย เราเรียกมาใช้ได้ทุกเมื่อ เรียกมาใช้ได้ทุกการ เขาจะเกิดสามัคคีกัน รวมตัวกันเลย เราจะลุก จะเหิน จะเดิน จะนั่ง แล้วแต่เขาจะต้องนึกถึงหลายสิ่งหลายอย่าง สัมปัตฎิการสืบเนื่องเป็นอย่างไร เป็นชวนะ ชวนะมันยังไง ถ้าจะมองคำว่าชวนะ มันก็เหมือนเชาว์แต่มันไว ไวกว่าเชาว์ไปอีกเรียกว่าชวนะ มันไวจนมองแผล็บเดียวเราไม่ต้องไปคิดว่าเราคือใคร เราเป็นลูกพระตถาคต เราเป็นแม่ชี เราเป็นพระ เราเป็นเณร เราไม่ต้องไปนั่งคิดมาก มันจะนึกถึงกันหมด แล้วอาการล็อกแล็กไม่มี สุขุมหนักแน่น พร้อมด้วนสติสัมปชัญญะปัญญา ควบคู่กันไปหมดสามารถบังคับให้เป็นไปตามรูปธรรม แสดงออกทุกอย่างสมบูรณ์ สุขุมหนักแน่น ไม่วอกแวก อันนี้เป็นคุณสมบัติอันแท้จริง เป็นผลที่เราได้ และจิตใจก็เหมือนกัน ก็ไม่มีโอกาสที่จะไปต่ออารมณ์สัญญาอีรุ่ยฉุ่ยแฉกของเค้าไม่มี อำนาจส่วนบังคับเขาไว ป้องกันไว้อยู่ตลอด อันนี้คืออะไร เค้าย่อมรู้ตามสภาพความเป็นจริงนั้น ๆ เสมือนอย่างว่าเราเคยเป็นเด็กเล่นอะไร ของเล่นต่าง ๆ เวลานี้เราเล่นอย่างนั้นไม่ได้อีกแล้ว ทุกอย่างที่เราผ่านวัยของความเป็นเด็กมา ตั้งแต่เด็กอ่อน เป็นโตหน่อย และเด็กโตมากจนกระทั่งหนุ่ม อะไรเหล่านี้เป็นต้น การละเล่นต่าง ๆ นั้นจะทำอีกไม่ได้แล้ว ถึงอย่างไรก็ทำไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ฉันใด สิ่งที่เราปรารถนา เราดิ้นรนบ้าบอคอแตก ก่อให้เกิดทุกข์เช่นกัน ก็ไม่มีโอกาสที่เราจะเป็นไปได้อีกแล้ว เพราะความไวของสติ ความไวของปัญญา สติสัมปชัญญะ ทุกอย่างมันพร้อม เกิดสามัคคีกันขึ้น สามารถทำให้เรามองได้ชัด อันนี้คืออันนี้ ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ตลอดเค้าด่าเรา เค้าชมเรา มันเกิดความวู่วาม เดี๋ยวก็สงบ มันไม่มีอะไรที่จะไปต่อ
                เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราผู้ปฏิบัติตั้งใจ ตั้งใจกันให้ดี เอากันให้ดี เอาเถอะ เชื่อเหลือเกินว่าพวกเรา ดำเนินตามนโยบายที่อาจารย์ว่ามานี้ พวกเราก็จะได้รับผลเป็นที่พึงพอใจแน่นอน ขอให้พวกเราตั้งอกตั้งใจปฏิบัติกันก็แล้วกัน
                เอาหละทีนี้ เล่าสู่กันฟังเพียงแค่นี้ แล้วพวกเราจะได้เลิกกันไปภาวนา เอาหละ เอา

๑ กันยายน ๒๕๒๖


หน้าแรกธรรมะ
กระดานข่าว
ลงสมุดเยี่ยม
อ่านสมุดเยี่ยม
ผู้เขียน

เชื่อมโยงกัลยานิมิตร >>
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว / สมเด็จพระมหาสมณเจ้า / พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร / พุทธประวัติ, พุทธโอวาท / ธรรมะพุทธองค์ / พุทธศิลป์ โดย อ.เฉลิมชัย / ธรรมะจากพระป่า / กองทัพธรรมพระกัมมัฏฐาน / ประวัติหลวงปู่มั่น / หลวงตามหาบัวช่วยชาติ / จังหวัดจันทบุรี / อำเภอนายายอาม / รอยยิ้มของพ่อ

เหมาะสำหรับจอภาพที่แสดงผลที่ 800 x 600 และเพื่อความสวยงามยิ่งขึ้นหากแสดงผลที่ 1024 x 768 (Microsoft Internet Explorer)
วัดเขาสุกิม
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2543

พัฒนาและออกแบบโดย นายทวีศักดิ์ รัตนคม    
ติดต่อสอบถามได้ที่ webmaster@khaosukim.org   
และทาง msn ได้ที่ hs2wjo@hotmail.com