พระธรรมเทศนา ความเพียร .

ความเพียร .

คำที่ว่าความเพียร ความเพียรนี้หมายถึงความพยามยามอุดหนุนให้กิจที่ตนเองประกอบให้สำเร็จไปจึงเรียกว่า ความเพียร พูดถึงอำนาจของความเพียร ความเพียรย่อมเป็นกำลังใหญ่ สามารถผลักดันความขี้เกียจขี้คร้านความมักง่าย ไม่ให้ปรากฏขึ้นมา เพราะเมื่อกำลังทั้งสองนั้นปรากฏขึ้นก็จะนำพาจิตใจให้มีความรู้สึกโน้มเอียงไปในทางกำลังของมัน จะเป็นเหตุให้งานที่ตัวเองประกอบนั้นไม่สำเร็จไปหรือล้มเลิกไปเสีย

เพราะฉะนั้น จึงว่าหากผู้ใดมีความเพียรเป็นนิมิตเป็นสัญญลักษณ์เครื่องหมายอยู่ในจิตแล้ว ย่อมสามารถจะประหารหรือขับไล่ความไม่ดีทั้งสองอย่างนั้นออกไปเสีย ไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ เพราะอาศัยความเพียรนี้เป็นตัวกางกั้น เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพยับยั้งความรู้สึกให้มีมานะอุตสาหะประกอบในสิ่งนั้น ๆ ให้สำเร็จไป

เพราะเหตุนนั้นจึงจำเป็นที่จะอธิบายเรื่องความเพียรให้ฟัง เพราะว่าเรื่องความเพียรเมื่อใครหากจะมีให้เกิด ให้มีขึ้นในตัวของตนแล้ว ความเพียรอันนี้ย่อมสามารถจะอุดหนุนกิจการนั้น ๆ ให้สำเร็จไปได้ทุกอย่าง เว้นแต่บางอย่างเป็นสิ่งที่สุดวิสัยจริง ๆ

หรือเหตุนั้นเรื่องความเพียรนี้จึงเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องแนะนำและสอนกันให้เข้าใจ เพราะว่าสิ่งที่ประกอบลงไปนั้น มันมีทั้งทางดีและทางชั่วจะประกอบด้วยโทษและคุณ เพราะเหตุนั้น เมื่อผู้ใดอาศัยกำลังของความเพียรเป็นตัวอุดหนุนทำกิจให้สำเร็จไป แต่บังเอิญกิจที่ตัวเองประกอบนั้นเป็นกิจซึ่งโทษหรือก่อขึ้นซึ่งความทุกข์ ประกอบในทางที่เป็นไปเพื่อโทษหรือทุกข์ เมื่ออาศัยกำลังความเพียรอุดหนุนให้สำเร็จไป ย่อมจะมีโทษแก่ตัวเอง

และเมื่อการประกอบนั้นจะเป็นไปเพื่อคุณ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์เป็นไปเพื่อความสุข ความเพียรอุดหนุนในกิจการนั้น ๆ ให้สำเร็จลงไปได้ย่อมมีผลดีแก่ผู้ประกอบ เพราะเหตุนั้นในเรื่องการกระทำความเพียร มันมีอยู่ ๒ อย่าง จึงเป็นเหตุที่จะให้พวกเราเข้าใจว่าการใช้ความเพียรเข้าอุดหนุนกิจการนั้น ๆ ให้สำเร็จ เราต้องอาศัยกำลังจิตนั้นเข้ามาช่วย ไม่เฉพาะที่ว่าเราอาศัยความเพียรเป็นตัวอุดหนุนบากบั่นทำกิจนั้นให้สำเร็จอย่างเดียว อย่างนั้นก็หาใช่ไม่

ต้องพิสูจน์ก่อนว่าสิ่งที่เราประกอบลงไปนั้นจะประกอบสิ่งที่เรากระทำลงไปจะประกอบด้วยคุณแต่เมื่อหากเราเสียสละเวลาลงไปจะคุ้มกันหรือเปล่า หรืองานอย่างอื่นซึ่งจะประกอบด้วยคุณก็เป็นอันว่าประกอบลงเช่นนั้นก็หาใช่ไม่ ต้องคิดก่อนว่าจะคุ้มกันไหม หรืองานอื่นจะดีเท่านี้ ซึ่งในโอกาสนี้เราพอที่จะกระทำได้เท่านี้ เรามองเห็นไหม

และงานที่เราประกอบนั้นเราก็ต้องมองดูซะก่อน คือ ความเป็นอยู่ของเรา เราเป็นอยู่อย่างไร หรือเราอยู่เพื่อใคร เมื่อเราทำงานสิ่งนั้จะน่าเกลียดไหม เหมาะสมกับเพศวัยฐานะของเราหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่เราต้องพิสูจน์อีกเหมือนกัน เพราะบางสิ่งบางอย่าง จะประกอบด้วยคุณแต่เมื่อลงมือทำลงไปนั้น หากจะไม่ดีก็ไม่เหมาะสมกับเพศวัยฐานะของเรา อันนี้คือความเป็นจริงที่พวกเราจะต้องพิจารณา

แล้วต่อจากนั้นไป คำที่ว่าประกอบด้วยโทษประกอบด้วยคุณเป็นไปเพื่อผลดีหรือผลเสียนั้น เราอย่ามองข้างนอก เพราะบางสิ่งบางอย่างมันอาจจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ในทางนอก หรืออาจจะเป็นไปในสิ่งที่ปุถุชนมองเห็นว่าเป็นผลประโยชน์เพราะอันนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่บัณฑิตต้องการ

อันนี้ประการหนึ่งเป็นสิ่งที่น่ามอง เพราะว่าความนิยมไม่เหมือนกันประการหนึ่ง และก็อีกประการหนึ่งเราก็มองว่าผู้ที่เอากำลังของวิริยะคือความเพียรเข้าไปใช้อุดหนุนให้กิจสำเร็จนั้น เช่นนั้นก็เป็นเพราะว่าผู้นั้นเป็นบัณฑิต หรือกิจการนั้น ๆ เป็นการประกอบแสวงหาโลกียสมบัติ หรือเป็นการประกอบแสวงหาในทางโลกุตตระสมบัติ ถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งคือว่าประกอบในทางธรรม หรือประกอบในทางโลก อันนั้นเราก็ต้องมองอีก

เพราะฉะนั้นเมื่อหากพวกเราไม่ใช้ปัญญา คือ ความฉลาดเข้ามาตรองพิสูจน์ถึงผลดีที่จะได้รับ และผลเสียที่จะเกิดมี ในความสำเร็จซึ่งงานที่ประกอบนั้น เมื่อเราได้พิสูจน์อย่างนี้ พยายามสร้างความเพียรขึ้นมากระทำเลย มุ่งเข้าไปเลย อย่างนี้อาจจะประกอบด้วยโทษหรือคุณยังเป็นคู่กัน

ดังนั้นจึงจำเป็นทีเดียวที่เราจะต้องใช้ปัญญาเข้ามาพิสูจน์ความจริงเสียก่อน ก่อนที่จะใช้ปัญญาพิสูจน์ความจริงได้ ต้องอาศัยสติเป็นตัวคิดก่อน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะประกอบลงไป และความรู้สึกของจิตมันไหวตัวออกไปจึงมีความรู้สึกอย่างนั้น ซึ่งมันมองเห็นแล้วว่า ทำอย่างนั้นดี เมื่อความคิดที่จะพุ่งออกไปเราต้องใช้สติเป็นเบรกยับยั้งไว้เช่นกัน

และก็คิดเสียก่อนว่าคำพูดที่เราจะพูดออกไปนี้ จะประกอบด้วยโทษหรือคุณกันแน่ ต้องมองเสียก่อน เพราะเหตุนั้นทั้งทางกายและทางวาจาที่เราจะแสดงออกไปหรือประกอบลงไป เราต้องมองทั้งผลดีและผลเสียต้องด้วยโทษหรือคุณเสียก่อน เมื่อสิ่งใดจะเป็นไปเพื่อโทษห้ามทันที อย่าให้เป็นไป อย่าใช้ความเพียรเข้าอุดหนุน

เมื่อสิ่งใดจะเป็นไปเพื่อคุณต้องพยายามเอาความเพียรเข้ามาเป็นเครื่องอุดหนุนให้สิ่งนั้นสำเร็จ นี่จึงจะเป็นประโยชน์ดีสำหรับผู้ทำความเพียร ต่อจากนี้ไปก็จะอธิบายถึงเรื่องความเพียรที่พระพุทธเจ้าประทานความเพียนใน ๔ สถาน คือ

๑. เพียรละบาปที่มีอยู่แล้วให้หมดไป ท่านเรียกว่า “ประหารประทาน”
๒. เพียรป้องกันบาปที่ยังไม่เกิดอย่าให้เกิดขึ้น เรียกว่า “สังวรประทาน”
๓. เพียรสงวนรักษาบุญกุศลที่มีอยู่อย่าให้ตกไป เรียกว่า “อนุรักขนาประทาน”
๔. เพียรประกอบในบุญกุศลที่ยังไม่ให้เกิดให้เกิดขึ้น เรียกว่า “ภาวนาประทาน”


ทีนี้จะอธิบายถึงเรื่อง “ประหารประทาน” ที่ว่ากำจัดบาปที่มีอยู่ให้หมดไป คำที่ว่าบาปที่มีอยู่ได้แก่อะไร แต่แท้ที่จริงแล้วถ้าจะพูดว่าบาปที่มีอยู่นั้นได้แก่อะไรนั้น บาปนั้นก็คือความทุกข์นั่นเอง แต่ทีนี้จะได้อธิบายในวิธีทำลายความทุกข์ คือจะสอนให้ประหารหรือทำลายซึ่งต้นตอของบาป ได้แก่ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ทั้ง ๓ นี้แหละมันเป็นของที่มีอยู่เรียกว่าต้นตอของบาปด้วย เพราะฉะนั้นวิธีแก้ไขที่จะให้ถูกต้องทำอย่างไร เพราะความโลภมันก็เป็นของที่ทุกคนมีอยู่ ความโกรธซึ่งมันมีอยู่นั้นเราจะแก้ไขอย่างไร ความหลงซึ่งมันปรากฏอยู่นั้น จะกำจัดได้อย่างไร จะอธิบายให้ฟังก่อน

ยกตัวอย่าง ความโลภ ความโลภเป็นของจำเป็นมาก ความโลภหมายถึงความอยากได้ เพราะทุกคนก็ต้องอยากได้ ทางดีก็อยากได้ ทางชั่วก็จัดว่าอยากได้ แต่ทีนี้จะอธิบายให้ฟังว่าโลภในทางที่มีโทษก็มี โลภในทางที่มีคุณก็มี โลภในทางที่มีโทษเช่นไร

เช่นตัวอย่างเรามีความโลภเจตนารุนแรงขึ้นมา เมื่อมีความโลภเจตนารุนแรงขึ้นมาก หาไม่ได้ในทางที่พอดี มันจะไปทางผิดทันที นี้พูดในทางโลก เช่น ตัวอย่างคนที่มุ่งหาสมบัติอันเป็นโลกีสมบัติ ตัวเองพยายามหาในทางบริสุทธิ์ด้วยน้ำพักน้ำแรกของตนเองไม่ได้ ก็ต้องมองหาในทางที่จะได้ในทางที่ผิด ที่ไม่บริสุทธิ์ ก็ต้องมองหาในทางที่ได้ในทางที่ผิด ที่ไม่บริสุทธิ์

เขาก็ประกอบแต่มีความโลภอยู่เหมือนเดิม โลภอย่างหนึ่งหาในทางบริสุทธิ์ โลภอย่างหนึ่งหาในทางไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุนั้น โลภใดที่เราหาในทางบริสุทธิ์หาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา อาศัยความเพียรเข้าอุดหนุนให้สำเร็จไป ได้ความโลภในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่มีโทษ

แต่ความโลภใดซึ่งหาด้วยน้ำพักน้ำแรงหาด้วยความบริสุทธิ์ไม่ได้ ก็หาในทางทุจริตมองหาเอาอย่างง่าย ๆ โดยไม่เคารพในสิทธิของคนอื่น พอที่จะเอาได้ในวิธีไหนก็เอา เรียกว่าหาในทางที่ผิดนั่นเอง ความโลภที่ประกอบขึ้นดังกล่าวนี้มีโทษ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าสอนให้ประหารความโลภในทางทุจริต ความโลภที่ต้องการจะเอาในทางทุจริตนี้เป็นความโลภที่มีโทษ ท่านให้ทำลายเสีย เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามทำลายความโลภในลักษณะดังกล่าวนี้ นี่พูดถึงเรื่องผู้แสวงในทางโลกียสมบัติ

ทีนี้ผู้แสวงบุญ สำหรับความโลภของผู้แสวงบุญนี้ก็ไม่มีอะไร ความโลภที่มีจิตคิดรุนแรงในทางที่เป็นบุญกุศล จนไม่มองเหตุแห่งการประกอบ มองแต่ผลรุนแรงอยู่อย่างนั้น ความโลภในลักษณะดังกล่าวนี้ ก็ไม่เกิดประโยชน์เหมือนกัน

ความโลภใดซึ่งมองเห็นอยู่แล้วว่าเราต้องการจะได้พระนิพพาน เราต้องการอยากจะหนีเสียจากความทุกข์ เราต้องการทำลายภพของจิต เราจึงตั้งหน้ากระทำความเพียร เราก็ต้องพยายามทำลายความคิดรุนแรง ซึ่งมันไปมองถึงผลว่าท่านผู้ทำสมาธิแล้วได้ผลอย่างนี้ ๆ บางรายก็เห่อเหิมรุนแรงไปในผล “มีความโลภเจตนาจนไม่รู้จักประมาณในการกระทำ” ความโลภในลักษณะดังกล่าวนี้จะประกอบด้วยโทษไม่กอบด้วยคุณเท่าใดนัก มีโทษเป็นส่วนมาก

เพราะฉะนั้น ความแรงในความโลภ ในคุณธรรมดังกล่าวนี้ ต้องหักห้ามอย่าให้เป็นไปอย่างนั้น ถึงจะมีความโลภหรือความปรารถนารุนแรงอยู่ก็ตาม แต่เรามองถึงเหตุแห่งการประกอบ เหตุแห่งการประกอบที่เราจะดำเนินเข้าไปหาผลนี้ เราจะประกอบเช่นไร เราต้องมองถึงเหตุและก็ประกอบเหตุเข้าไปหาผล เมื่อเข้าไปหาผลแล้วก็อย่าไปเห่อเหิม

ความโลภรุนแรงเข้าไปเสวยผลอันนั้น จะเป็นไปเพื่อผลเสียเหมือนกัน เพราะโดยส่วนมากผู้ทำสมาธิจิตที่ก้าวอันดับไม่ได้ ก็เพราะไปหลงและติดอยู่ในผลของสมาธิ เพราะเป็นความลึก เป็นห่วงใหญ่ที่จะดักสัตว์ผู้ที่เข้าไปถึงให้ตกอยู่ ไม่มีความสามารถจะไปได้ประการหนึ่ง หรืออีกประการหนึ่ง การเห่อรุนแรงในผลของสมาธิ สามารถจะทำให้วิปริตขึ้นมาได้ด้วยกำลังของจิต

พูดให้ได้ใจความสำคัญอย่างง่ายก็คือว่า “เหตุแห่งความเป็นบ้าจะปรากฏขึ้น” ก็มีอยู่อย่างนี้ เมื่อหากเป็นไปอย่างนั้นความโลภรุนแรงดังกล่าว ก็ย่อมเป็นไปเพื่อโทษเหมือนกัน เพราะเหตุนั้นความโลภรุนแรงที่พุ่งไปโดยมองผล ไม่มองเหตุ มองแต่ผลนั้นเป็นสิ่งควรประหารหรือทำลายเสีย
     
ความโลภใดที่เป็นไปในทางที่ถูกต้อง คือเป็นผู้มองเหตุ ประกอบเหตุเข้าไปหาผล อันนี้สมควรจะต้องเอาชนะความเพียรเข้ามาอุดหนุนเพื่อให้จิตนั้นสำเร็จ

นี่พูดถึงความโลภ ที่นี้ส่วนของความโกรธ ความโกรธที่ปรากฏขึ้นมานั้นไม่ดีเลย ความโกรธนี้เมื่อมันปรากฏขึ้นเราจะทำอย่างไร ความโกรธที่ปรากฏขึ้นเราก็ต้องอาศัยคุณธรรม ๒ อย่าง คือ สติตัวยับยั้งปัญญาตัวตรองถึงเหตุผล คือในเมื่อประสบเหตุการณ์อันที่จะเป็นไปเพื่อความโกรธรุนแรง เราต้องอาศัยสติ เป็นตัวตรึก บังคับก่อน

ซึ่งเราไม่สามารถบังคับจิตได้เลย เราก็ต้องบังคับอาการส่วนภายนอกที่จะไหนตัวตาม เช่นทางกายมันจะเกิดรุนแรงขึ้น เราก็ต้องอาศัยสติเป็นตัวสั่งเป็นเบรคยังยั้งก่อน เมื่อยับยั้งได้แล้ว มันอยู่แล้ว การยับยั้งท่านเรียกว่าลักษณะของสมถะ ใช้ปัญญาตรองท่านเรียกว่ากิริยาของวิปัสสนา ตรองถึงผลดีและผลเสียที่มันจะเกิดขึ้นในเมื่อลุอำนาจแห่งความโกรธและดำเนินลงไป จะเป็นไปเพื่อโทษอย่างไรบ้าง เป็นไปเพื่อผลเสียอย่างไรบ้าง

ตรองพิสูจน์ให้ได้ความชัดแล้ว เอาความเข้าใจที่ถูกต้องเข้าไปหักห้ามจิต เมื่อคุณธรรมหรือความรู้มันชัชวาลถูกต้องดี หรืออำนาจมันเหนือกันจริง ๆ จิตนั้นจะจำนนหรือหยุดทันทีเลย นี่เราต้อทดสอบทดลองอย่างนี้เสมอ นี่พูดถึงความโกรธ

เพราะเหตุนั้นพระพุทธเจ้าสอนในเรื่องอุบายวิธีที่จะลายความโกรธนั้นต้องอาศัย กำลังคุณธรรม ๒ อย่าง คือ สติและปัญญาดังกล่าว กิริยาของการบังคับไว้ อันนั้นเป็นกำลังของสติ คือ ยับยั้งไว้ก่อน ตัวเข้ามาตรองทีหลังพิสูจน์ถึงความจริงนั้นเรียกว่าปัญญา

หรือถ้าจะพูดในลักษณะนิยมเรียกว่าลักษณะของวิปัสนา สมถะก็ดีวิปัสนาก็ดี ก็เป็นคู่กันอยู่อย่างนี้ทิ้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องดำเนินอย่างนี้

ที่ว่าเอาความเพียรเข้ามาเป็นเครื่องอุดหนุนคือเช่นไร เราต้องพยายามทำอยู่อย่างนี้เสมอ ๆ คราวนี้ชนะได้ คราวหน้ามันชนะไม่ได้หรือชนะได้เราก็ไม่ลดละประมาท จนกว่าความโกรธนั้นจะหมดไป “เราเอาความเพียรเข้ามาอุดหนุนอย่างนี้จึงเรียกว่า วิริยะ”
               
ความหลง ความหลง คือไม่รู้จริงตามสภาพความเป็นจริง หรือหลงรักหลงชัง เมื่อความหลงอันนี้มีอยู่ในเรา เราก็ต้องอาศัยความเพียร คือต้องพยายามอุดหนุน เข้าหาทางแก้ไขปรับปรุงเรา จนกว่าเราจะรู้จริงเห็นจริง ความหลงอันนี้ปรากฏขึ้นมาจากไหน “มันก็มาจากจิต” เมื่อมันมาจากจิต วิธีที่เราจะไปหักห้ามหรือพิสูจน์ความจริงของความหลง หลงรักหลงชังนั่นเอง ว่าจะประกอบด้วยโทษหรือคุณกันแน่

ก็ไม่มีอะไรอื่นไกลนอกจากลักษณะ ๒ คือ สติตัวยับยั้งเหมือนกัน และปัญญาตัวตรองพิสูจน์เหมือนกัน เมื่อมันเกิดรักเกิดชังขึ้นมา เราก็ต้องใช้สติยับยั้งก่อน ก็ใช้ปัญญาตรองพิสูจน์ หรือถ้าจะพูดว่าใช้สมถะ คือ ความสงบเป็นเบรคบังคับกันเอาไว้ก่อน

เมื่อมีความสงบหรือจับตัวอยู่ได้แล้ว ใช้ปัญญาตรองถึงผลดีผลเสียหรือโทษคุณ อันนี้เมื่อเราปล่อยไปอย่างนั้นมันจะเป็นอานิสงส์แสดงตอบ อันนี้เป็นสิ่งที่เราควรกระทำ และก็พยายามอยู่เสมออย่าลดประมาท จนสามารถเอาชัยชนะความหลงได้นี่
               
การประหารบาปที่มีอยู่ให้หมดไป
ก็คือประหารความโลภ ความโกรธ ความหลงดังกล่าว ทีนี้ต่อจากนี้ไป ได้แก่สังวรประทาน คำว่าสังวรคือสังวรอะไร สังวรตา สังวรหู สังวรจมูก สังวรลิ้น สังวรกาย สังวรใจ นั่นเอง
               
สังวรนั้นคือสังวรเช่นไร
ตาก็เป็นของที่อยากมองดูรูป รูปมันจะชวนให้เรารักและชัง และเฉย ๆ เพราะเหตุนั้นเมื่อไม่จำเป็นที่เราจะต้องมองเราก็อย่ามอง ให้สังวรหรือสำรวมระวังเอาไว้อย่ามอง แต่จำเป็นทีเดียวที่เราจะต้องมอง เราจะต้องทำอย่างไร จำเป็นทีเดียวที่เราจะต้องมอง เราก็ต้องสังวรในทางใจ เพราะว่าความรู้สึกมัน ปรากฎขึ้นทางใจว่ามันจะรักหรือมันจะชัง

เราต้องสังวร คือหาทางเข้าไปหักห้ามใจ ก็เอาลักษณะทั้ง ๒ ดังกล่าวนั่นแหละเข้ามายับยั้งเหมือนกัน เมื่อมันปรากฏเกิดขึ้นก็ต้องยับยั้งก่อน แล้วก็พิสูจน์อย่างเดียวกัน แต่แล้วเมื่อหากไม่จำเป็นก็อย่ามอง เมื่อจำเป็นที่เราจะต้องมองเราก็ต้องเอาอย่างนั้น หูก็เช่นกันเราต้องสังวรหู คือ สิ่งใดที่เราต้องไปฟัง เราต้องทำอย่างไรหละ ก็เหมือนกัน คือ สิ่งที่เราหาทางหลีกไม่ได้ จำเป็นทีเดียวที่เราจะต้องฟัง

เราก็ต้องดูจิตของเรา ว่าจิตของเรามันจะเสียใจไหม จะดีใจไหม จะรักจะชังอะไรเหล่านี้ เป็นต้น เราก็ต้องมองสังวรในจิต แล้วก็เอาลักษณะดังกล่าวทั้งสองนี้เข้ามายับยั้งเหมือนกัน แล้วต่อจากนั้นไป รสก็เหมือนกัน เพราะจำเป็นทีเดียวที่เราต้องบริโภคอาหาร และการบริโภคอาหาร เมื่อไม่จำเป็นในบางสิ่งบางอย่าง เราก็เว้นไปเสีย เมื่อจำเป็นทีเดียวที่เราจะต้องบริโภค ก็ต้องสังวรในทางจิตใจเหมือนกัน คือ เมื่อบริโภคไป ความรู้สึกของจิตใจมันมีความรู้สึกต่ออาหารอย่างไร มันบริโภคด้วยรสชาติหรือบริโภคด้วยคุณ

เมื่อมันบริโภคด้วยด้วยรสชาติหรือเห็นแก่รสชาติ อันนั้นเราต้องหาทางยับยั้งแก้ไขเหมือนกัน เมื่อมันบริโภคเพื่อคุณ เราก็ต้องมองอีกว่ามันให้คุณจริงไหมหรือว่าให้โทษอันเอนเอียงเข้าข้างกิเลสหรือเปล่า หรือเอนเอียงเข้าข้างความรู้สึกของจิตที่เป็นไปในทางกิเลสหรือเปล่า

ก็ต้องเอาลักษณะทั้ง ๒ ดังกล่าวเข้ามายับยั้งจิตอีกเหมือนกัน ทีนี้ส่วนการพูด กลิ่นก็เช่นกัน และการสัมผัสก็เหมือนกัน แต่สำหรับการสังวรใจนั้นก็ดังอธิบายสู่ฟัง เพราะของบางสิ่งบางอย่างซึ่งเราพอที่จะสังวร หรือหาทางห้ามหรือกันเอาไว้ตั้งแต่เบื้องต้นได้ เราก็รีบกันเสีย แต่จำเป็นสุดวิสัยที่เราจะป้องกัน และบางสิ่งบางอย่างมันจำเป็นที่เราจะต้องดำเนินอย่างนั้น

เมื่อหากเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องสังวรใจ แต่ทีนี้ส่วนของใจโดยตรงก็มีสิ่งที่เราจะต้องสังวรอยู่อีก อารมณ์และเหตุการณ์ทั้งปวง ซึ่งเราได้ประสบ สิ่งใดที่ควรเอาพิสูจน์เราก็เอามาพิสูจน์ สิ่งใดที่ไม่ควรเอามาพิสูจน์ เราก็รีบสังวรและหักห้ามเสีย แต่การหักห้ามก็เอาลักษณะทั้งสองดังกล่าวเข้ามาหักห้ามและพิสูจน์

เพราะกว่าการไหวตัวของจิตเข้าไปสู่อารมณ์สัญญา หรือเหตุการณ์ที่ประสบ ที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่อดีตก็ดี หรือปัจจุบันที่กำลังประสบอยู่ก็ดี ความรู้สึกของจิตที่จะไหวตัวออกไปนั้นก็ต้องอาศัยลักษณะเบื้องต้น คือ ตัวยับยั้ง คือกำลังของสมถะนี่แหละหรือกำลังของสตินี่แหละยับยั้งก่อน

แล้วก็ใช้ปัญญาตัวตรองพิสูจน์ถึงผลดีผลเสีย หรือจะประกอบด้วยโทษหรือคุณดังกล่าวมันปรากฎขึ้นมา เมื่อเราพิสูจน์เห็นแล้วในสิ่งที่ควรหักห้าม เราก็ต้องหักห้ามด้วยความรู้จริงเห็นจริงของเรา เอาเข้ามาหักห้ามหรือยับยั้ง เมื่อจะประกอบด้วยคุณก็ต้องเอาความจริงเข้ามาอุดหนุนให้พิสูจน์ความจริงอันนั้นให้สำเร็จมา ก็มีอยู่อย่างนี้
               
เพราะเหตุนั้น เรื่องการดำเนินในทางสังวรประทาน ก็มีดังที่อธิบายสู่ฟังนี้ แต่สำหรับอนุรักขนาประทานนั้น หมายถึงการสงวนซึ่งบุญกุศล คือความดีที่มีอยู่อย่าให้ตกไปนั้น ก็ไม่มีอะไร คือความหมายว่าบุญกุศลของเราซึ่งมีอยู่เราต้องพยายามสงวนและรักษาไว้ให้คงที่ คือ หมายความว่าการประกอบความดีของเราที่เราประกอบออยู่ ซึ่งทำอยู่

เราต้องพยายามสงวนไว้ ให้ประกอบอยู่อย่าให้ตกไป เช่นตัวอย่างเราเคยรักษาศีลหรือให้ทานบริจาค หรือเจริญเมตตาภาวนาก็ดี หรือประกอบในทางที่เป็นบุญกุศลอยู่ก็ดี ในเบื้องต้นเราอาจจะกระทำเพียงแค่กิริยา การกระทำเพียงแค่เป็นกิริยานี้ก็คือว่าเค้าทำก็ทำตามเค้า ไปตามเค้า โดยไม่มีความมุ่งประสงค์ซึ่งว่าการกระทำนี้ต้องการอันนี้ ๆ เป็นเครื่องตอบ

และการกระทำบุญกุศลนี้ อานิสงส์สิ่งตอบคืออย่างนี้อะไรอย่างนี้ทั้งหมด ซึ่งมองไม่เห็นกระทำด้วยความโง่ ๆ หมายความง่าย ๆ ก็คือว่าเห็นเขาทำก็ทำตามเขานั่นเอง การกระทำอย่างนี้เรียกว่าการทำโดยกิริยาหรือการทำสมาธิก็เหมือนกันที่ทำเห็นเขาก็ทำ ๆ ไป แต่ไม่รู้จักความหมายไม่เข้าใจว่าทำเพื่อประสงค์อะไร การกระทำก็สักแต่ว่าทำไป หรือเข้าใจในจุดประสงค์อยู่ แต่ไม่ตรงต่อจุดประสงค์ของพระอริยะเจ้าที่ท่านมีจุดประสงค์

การกระทำก็กระทำไปอย่างนั้น แต่ไม่ได้ทำเป็นนิจ เพียงแค่ว่าทำเป็นกิริยา อันนั้นเรียกว่าทำเป็นกิริยา ทีนี้อย่างหนึ่งอาจจะทำเป็นนิสัย คือว่าถึงคราวทำก็ต้องทำ แต่ก็โง่ไม่ค่อยฉลาดคือทำเพียงแค่ให้เป็นนิสัยเฉย ๆ อันนี้เรียกว่าทำให้เป็นนิสัย อันหนึ่งทำเพื่อความหลุดพ้น คือ ต้องศึกษาให้เข้าใจว่า การกระทำนี้จุดประสงค์คืออะไร และการกระทำนี้ควรจะสร้างหรือประกอบอะไรให้เกิดให้มีขึ้นมาก่อนเป็นเบื้องต้น

แล้วต่อจากนั้นไป จะเอากำลังที่เราสร้างขึ้นมาได้ไปใช้ในทางไหนเพื่ออะไร ให้เข้าใจแน่นอนประกอบให้ถูก การก้าวแต่ละก้าวถูกต้องเลย การกระทำอย่างนี้มุ่งเพื่อความหลุดพ้น มุ่งเพื่อพิสูจน์ผลจริง มันมีอยู่ ๓ นัยด้วยกัน ฉะนั้นการกระทำที่เราทำอยู่ในอันดับไหน เราก็ต้องสงวนและรักษาบุญกุศลไว้อย่าให้ตกไปประการหนึ่ง หรืออีกประการหนึ่ง ความดีของเราที่มีอยู่ ต้องพยายามสงวนไว้อย่าให้ตกไปด้วยสิ่งก่อกวน

บุญกุศลนี้ย่อมีสิ่งที่เป็นศัตรูต่อกุศลของเรามีอยู่ และพยายามหาทางหักห้ามบังคับ อย่าให้สิ่งที่เป็นศัตรูต่อกุศลนั้นเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยป้องกันไว้ให้ดีนั้นอีกประการหนึ่ง นี้เล่าถึงเรื่องการสงวนและรักษาไว้ซึ่งความดีของเราอย่าให้ตกไป

ทีนี้คำที่ว่า ภาวนาประทาน ในองค์ที่ ๔ นั้นก็คือว่าเป็นผู้สงวนบุญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หมายความว่า เราทำสมาธิเป็นเพียงแค่เป็นกิริยา เราก็พยายามหาทางทำให้เป็นนิสัยขึ้น หรือเราทำเพียงแค่เป็นนิสัยอยู่ ก็พยายามทำมุ่งเพื่อพิสูจน์ความจริง หรือเพื่อความหลุดพ้นให้ดีขึ้น นี้เรียกว่าพยายามขึ้น

หรือเราเคยให้ทานแต่ไม่เคยรักษาศีล เราก็หาทางรักษาศีลให้ได้ หรือทานก็ให้ยิ่งขึ้นไป หรือเรารักษาได้เพียงศีลห้า เราก็พยายามให้ได้ถึงศีลแปด คือหมายความว่าเขยิบอันดับขึ้น หรือให้ดีขึ้นให้ยิ่งขึ้น ในสิ่งที่ไม่เคยทำให้ได้ทำประกอบขึ้นในทางที่จะเป็นบุญกุศล อันนั้นเรียกว่า ภาวนาประทาน

เป็นผู้ประกอบในสิ่งที่เรายังไม่ได้ประกอบในทางที่เป็นบุญ พยายามประกอบขึ้นไม่ให้อยู่เพียงแค่อันนี้เรียกว่าภาวนาประทาน เพราะเหตุนั้นเล่าถึงเรื่องความเพียร ที่พระองค์ประทานความเพียรไว้ใน ๔ สถาน ก็ดังที่อธิบายสู่ฟังมานี้ เพราะฉะนั้นพวกเราที่จะต้องเอาความเพียรเข้ามาเป็นเครื่องช่วยอุดหนุน ให้กิจการของพวกเราสำเร็จ ก็ต้องพยายามสงเคราะห์ความเพียรเข้าใน ๔ สถานนี้

และประกอบให้ถูกต้องอย่างอธิบายสู่ฟังมานี้ พวกเราก็จะสำเร็จ ดังที่พรรณนาสู่ฟังมานี้ทุกประการ และพวกเราจงมองดีเถิดว่า ความเพียรนี้เป็นของดีแท้
               

เพราะว่าเมื่อหากผู้ใดเอาความเพียรเข้ามาอุดหนุนในกิจการนั้น
ๆ กิจการนั้น ๆ ย่อมสำเร็จ แต่ว่าต้องใช้ความเพียรอุดหนุนในทางที่ประกอบด้วยคุณประโยชน์ จึงจะเป็นผลดีสำหรับพวกเราผู้เอาความเพียรเข้าไปประกอบ นี่แหละที่อธิบายสู่ฟังมาทั้งหมดนี้

ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายนำไปใคร่ครวญพิจารณาดูว่า เมื่อหากดำเนินตามที่อธิบายสู่ฟังนี้ จะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์แน่นอน และมองเห็นผลชัด ก็ขอให้นำไปประกอบดำเนินแล้วก็จะประสบความสุขความเจริญงอกงามในบวรพุทธศาสนา
ดังอธิบายสู่ฟังนี้ ก็ดูเหมือนพอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติเพียงแค่นี้

๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๙


**ไม่อนุญาตให้นำไปเพื่อการค้าหรือจำหน่าย แต่สามารถพิมพ์แจกเป็นธรรมทานได้