พระธรรมเทศนา คุณค่าของพระศาสนา และตอบปัญหา

คุณค่าของพระศาสนา และตอบปัญหา

           
ถ้าหากจิตของเรารวมลงไปสักลึก ๆ นี่
ท่านทั้งน้อยหนึ่ง เราก็จะเห็นหน้าของความสุขว่าเป็นแบบไหน และเมื่อเรานำมาเทียบกับท่านผู้ที่ก้าวไปสู่ฌาน – ญาณ อันหลายว่าจะมีความสุข อาจจะทำให้พวกเราอยากได้เห็นในสิ่งที่ยังไม่ได้ไม่เห็นต่อไป
           
ในเบื้องต้นก็เป็นธรรมดาอยู่เอง เพราะเรายังไม่ได้ลิ้มรสอันแท้จริงของธรรมะ ก็รู้สึกว่าทำยากทำลำบาก บางทีก็ไม่อยากจะเชื่อว่า จะเป็นจริงหรือ จะเป็นไปได้จริงหรือ จะมีความสุขจริงหรือ อะไรเหล่านี้ ก็รู้สึกว่าสงสัย
            
เมื่อเราหาวิธีตะล่อมจิตของเราเข้าสู่สภาพในความสงบในทางสมาธิอันแท้สักแค่ “ขณิกะ” แค่นี้แหละครับ จะพบความสุขมหาศาล อันเราจะเทียบได้ว่าความสุขอันลึกลงไปกว่านี้จะขนาดไหน จะทำให้เราอยากได้เห็นและจะดิ้นรนกันอีกละทีนี้

ครูบาอาจารย์ไม่ใช่จะบังคับให้ภาวนาเหมือนก่อน ๆ แล้วในตอนนี้ จะคอยพยายามห้ามปรามไม่ให้รุนแรงเกินไป ให้รู้ว่าสังขารนี้ ถ้าหักโหมเกินไปจะบังเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง จะคอยเตือนห้ามตลอดเวลา เผลอก็จะบุกเอาตายเลยทีเดียว เพราะอยากจะเข้าไปสู่ธรรมะส่วนละเอียดและลึกเข้าไป ว่าผลจะปรากฏอย่างไรบ้าง ดิ้นรนจะเข้าไปอย่างเดียว นี่เป็นอย่างนั้น
            
เพราะฉะนั้น ท่านเจ้าคุณฯ (พระศรีวิสุทธิกวี) ก็อยากจะให้มีการบำเพ็ญเป็น ๒ ระยะ เวลาจะได้ยืดยาวขึ้น บางทีท่านผู้มีความสามารถจะตะล่อมจิตของตนเองเข้าสู่ความสงบแห่งสมาธิได้นั้นนะครับ อาจจะได้ลิ้มรสแห่งธรรมะอันแท้จริง คุ้มค่าที่เราบวชมา และได้เป็นพระมหาเปรียญ อย่างครูบาอาจารย์ (พระนักศึกษา) เหล่านี้

ก็เป็นพระมหาเปรียญกันทั้งนั้น ก็จะได้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติว่าคุณธรรมและคุณค่าของศาสนานั้นมีอย่างนี้ ๆ จะได้แน่นอนประจักษ์เป็นสักขีพยานตัวเอง ไม่ต้องยืมใครมาพูด เราเห็นเอง เรารู้เอง พูดได้อย่างเต็มปาก
            
ตอนนี้ก็ขอนิมนต์ฉันน้ำ (น้ำปานะที่ทางวัดจัดถวาย) กันเสียก่อนครับ เสร็จแล้วก็จะได้ไหว้พระ (ทำวัตรเย็น) พอไหว้พระเสร็จเราก็จะได้นั่งสมาธิกัน ๓๐ นาที (ที่ศาลาการเปรียญ) แล้วก็ลงไปข้างล่าง ตรงบริเวณโบสถ์นั่นแหละครับ เอาข้างล่างบ้าง ข้างบนบ้าง เอากันจริง ๆ สักพักหนึ่ง แล้วก็จะได้นิมนต์ให้พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณฯ (พระศรีวิสุทธิกวี) ท่านคุมเวลาให้ แต่ผมว่าชั่วโมงหนึ่งมันน้อยไป
           
พวกผมนะครับ เคยออกบำเพ็ญ (ต่างสถานที่ กันทุก ๆ ปี ๆ ละ ๒ - ๓ หน ไม่เคยขาด โดยมากพวกผมเอาหกทุ่มเป็นเกณฑ์ พอไหว้พระเสร็จก็ออก แล้วก็นั่ง ๆ เดิน ๆ สู้กันอย่างน้อยที่สุดหกทุ่มแล้วก็เลิกกัน เมื่อเลิกกันไปแล้วก็ไม่ได้เลิกไปนอน แต่ไปจับกลุ่มกันอีก กลุ่มหนึ่งเป็นหย่อมเล็ก ๆ คนละหย่อมกัน และตั้งหัวหน้าเป็นผู้ดูแล กลุ่มนั้นอยู่ตรงนั้นกี่องค์ กลุ่มนี้อยู่ตรงนี้กี่องค์ แยกกันเป็นกลุ่ม ๆ บุกตะลุยกันจนสว่างคาตาเลย
           
ในคราวที่พวกผมไปบำเพ็ญที่ดอยต๊อก
(ดอยทอด) อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๐ พวกผมเอากันจริง ๆ ครับ ไม่ว่าใครทั้งนั้นตั้งหน้าตั้งตาเอากันจริง ๆ จัง ๆ แล้วก็มีสิ่งมหัศจรรย์มากมาย เป็นที่น่าตื่นเต้นมาก คนที่ไปด้วยทุกคนตื่นเต้นกันใหญ่ บอกว่าไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิต ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่ได้เป็นสมาธิ แต่เห็นสิ่งภายนอกเป็นสิ่งประกอบกัน ก็เลยบุกตลุยกันใหญ่เลยครับ เพราะเกิดความศรัทธา ทำให้เกิดเชื่อว่า “เทวดามีจริงนะ สิ่งประหลาด ๆ ที่เขาเล่าลือกันมีจริงนะ” อะไรเหล่านี้
            
เพราะฉะนั้น ในวันนี้เป็นวันปฐมฤกษ์ที่พวกเราจะได้ทำกันเป็น ๒ ระยะ
เท่าที่ผ่านมาพระนักศึกษาและพระสังฆาธิการมาฝึกก็จะทำกันเพียงแค่ ๓๐ นาที แล้วก็เลิกกัน คือผมเองก็ได้ปรารภกับท่านเจ้าคุณฯ ว่าควรจะให้เป็น ๒ ระยะ

เพราะเราอยู่ที่นี้ (ศาลาการเปรียญ) เราได้แค่นั่งเพียงอย่างเดียว แต่ออกไปข้างนอกจะได้เดินจงกรมด้วย ท่านเจ้าคุณฯก็เห็นด้วย เพราะว่าเราจะได้ยืดเวลาออกไปอีกสักหน่อย หรือท่านผู้ใดมีจิตศรัทธาแรงกล้า เมื่อกลับไปถึงกุฏิแล้ว จะทำต่ออีกก็ยังได้ครับ ไม่เป็นไร


ตอบปัญหาการปฏิบัติ
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี กราบเรียนถามว่า…
“พระนักศึกษาบางรูป ขณะเดินจงกรมได้เห็นร่างกระดูกของตนเอง จึงเกิดความกลัวขึ้นมา ต้องหยุดการปฏิบัติ อย่างนี้จะแก้อย่างไรครับ”

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

“เห็นอะไรก็แล้วแต่ เราต้องทำความเข้าใจแต่เบื้องต้นว่า เราจะรู้เห็นอะไรก็สักแต่รู้ว่าเห็น เราต้องตั้งปัญหาถามตนเองและบอกตนเองไว้ก่อนว่า เราเห็นอะไรถือว่าเป็น “อุคหนิมิต” เท่านั้น ขอให้บอกตนเองไว้ก่อนนะครับ”

“ผมเองเคยได้ประสบอย่างนี้ คือ ผมนั่ง ๆ ไปเห็นร่างกระดูกหนอนหงายอ้าปาก ผมถามตนเองว่า เอ กระดูกนั้นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายนะ กระดูกนั้นก็เป็นรูปของผู้หญิงไปครับ ถ้ากระดูกนั้นเป็นรูปผู้หญิง เผื่อมันมากอดเราจะทำอย่างไร มันคิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นแหละครับ กระดูกก็ลุกโงนเงนขึ้นมาเลยครับ

เอ เห็นทีมันจะเอาเราจริง ๆ มันจะมากอดเราจริง ๆ ละกระมัง วิ่งเข้ามากอดจริง ๆ เลยครับ ผมตกใจเกือบจะวิ่งแล้วครับ เอ นี่มันจะกัดเราหรือไง มันก็กัดใบหูดังกึบ ๆ ๆ แหมผมจะไปแล้ว ผมจะวิ่งให้ได้เลยครับ แต่ผมทำความเข้าใจไว้แล้วว่า นี่มันเป็นเพียง “อุคหนิมิต” เท่านั้น หวลระลึกถึงที่ผมตั้งใจไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เห็น มันเพียงแค่อุคหนิมิตเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องจริง

ผมนึกได้แค่นี้แล้วมันก็สงบ ที่มันปล้ำผม มันก็ปล้ำอยู่นั่นแหละ ที่มันกัดหูมันก็กัดอยู่นั่นแหละ แต่ผมก็รู้เท่าทันมัน โดยเป็นเรื่องอุคหนิมิตมันก็หยุด หยุดแล้วก็เลิกกลับไปนอนอยู่เท่านั้นแหละ ผมก็ไม่ได้สนใจ ผมก็พยายามคุมจิตของผมอย่างเดียว จิตของผมไปคิดเรื่องอะไรต่ออะไร ผมก็ยังบังคับ หยุด จิตก็ไม่เอา อำนาจของผมมันพอสำหรับตัวเองอยู่แล้ว มันก็ไม่ไปต่อในสิ่งใด ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็อยู่ในความสงบ

พอมันจะไหวตัวมันไหวตัวอยู่ในความสงบ เพราะฉะนั้นก่อนทำสมาธิต้องทำความไม่รู้เท่าก่อนว่า เราทำสมาธิก็เป็นอันแล้วกัน บัดนี้ อะไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นอุคหนิมิตเท่านั้น เราไม่สนใจ เราต้องการจะประคองจิตของเราให้รู้ในจิตของเราว่าชอบในทางอานาปาน์ ก็กำหนดอานาปาน์ ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น สิ่งทั้งปวงจะไม่สนใจเด็ดขาด เราจะรับรู้เฉพาะอย่างนี้อย่างเดียว บังคับให้อยู่ในสิ่งที่เราต้องการ แจ๋ว..อยู่ตลอดเวลา เป็นอันใช้ได้ อันนี้ถึงจะถูกครับ”

ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี

“บางท่านสงสัยว่าอุคหนิมิตมันเกิดจากอะไร ทำไมมันจึงเกิดปรากฏขึ้นมาได้ บางท่านก็กลัวกัน บางท่านเคยนั่งเกิดนิมิตขึ้นก็กลัว ไม่อยากทำต่อ มันเกิดจากอะไร มันของจริงหรือไม่จริงแค่ไหนเพียงใดครับ”

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

“มันก็มีหลายแบบเหมือนกัน คือ ระหว่างในตัวขณิกะ ในระหว่างช่วงมันมีลักษณะของจิตอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกัน คือ ลักษณะธรรมก็คือธรรมดา ลักษณะหนึ่งมันจะอยู่ในลักษณะครึ่ง ๆ สำนึก อันนี้พอนึกถึงอะไรเห็นอันนั้นทันที เราจะสัณนิษฐานได้ ในระหว่างเรากำลังนอนหลับฝัน ถ้าหลับสนิทก็จะไม่ฝัน ครึ่งหลับครึ่งตื่นสะลึมสะลือ กำลังเคลิ้ม ๆ นี่แหละครับฝันแน่

ถ้าตื่นปกติดจะไม่ฝัน คิดอะไรก็ไม่ฝัน ฉันใด ในะรหว่างทำสมาธิที่จะเข้าสู่ขณิกะ ถ้าเข้าไปถึงขณิกะ เข้าไปแล้วมันเป็นอีกแบบหนึ่งนะครับ ถ้าอยู่ในระหว่างจะเข้าแหล่ไม่เข้าแหล่ สติมันอาจจะขาด ๆ นิด ๆ นึกไม่ได้ นึกอะไรอันนั้นขึ้นมาทันทีเลย เพราะฉะนั้นที่ว่าเหนือสำนึกจริง ๆ มันก็ไม่เห็น ลงไปในระหว่างกลาง ๆ ถ้าเข้าไปถึงจุดของขณิกะจริง ๆ มันก็ไม่เห็น ลงไปในระหว่างกลาง ๆ ถ้าเข้าไปถึงจุดของขณิกะจริง ๆ มีการดูจริง ๆ นะครับไม่เป็น

ถ้าหากทุกท่านทำความเข้าใจเอาไว้ว่า นี่เราทำสมาธิทุกสิ่งทุกอย่างอย่างที่เกิดเป็นอุคหนิมิต ก็เป็นอันแล้วกันไป สรุปแล้วง่าย ๆ มันเหมือนกันกับว่ามโนภาพนั่นเองแหละครับ มันขึ้นมาเอง”

ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี

“ เป็นอันว่าถ้าหากอุคหนิมิตเกิดขึ้นมา เราก็อย่าไปกลัว เพราะว่าเราฝันขึ้นมาเอง มันเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เพราะฉะนั้น เราอย่าไปสนใจมัน มีนักศึกษาบางท่าน มีประสบการณ์บางอย่างเกิดขึ้น คือ เมื่อสมัยเป็นสามเณร ท่านบอกว่าเคยนั่งได้จนตลอดรุ่ง และบอกว่ามีความสุขมาก เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง แต่พอมาคราวนี้จะให้ได้แบบนั้นอีกมันก็ไม่ได้ ทำอย่างไรมันก็ไม่ได้แบบที่เคยได้มา มันเป็นเพราะเหตุใดครับ..”

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

“อ้อ..ถ้ามีความอยากอยู่ ความอยากมันไม่ได้หรอกครับ ทิ้งความอยากเสียก่อน ประคองจิตของเราให้ได้รับรู้อยู่ในจิตที่ตัวของเรา อย่าไปมัวหมองผลของสมาธิ ผู้ที่จะทำสมาธิ ถ้าไปพบผลแล้ว โดยมากมักจะประกอบผลและพะวงอยู่ในผลตลอดเวลา แทนที่จะประกอบเหตุกลับไม่ แท้ที่จริงเราเข้าสู่ผลอันนั้น เราต้องประกอบเหตุ มันถึงจะเข้าไปสู่ผล

เพราะฉะนั้น เราเลิกจากการผลกลับมามองเหตุ เหตุนั้นอยู่ตรงไหน เอาเถอะครับ กำหนดลมหายใจเข้าออก มีบริกรรมภาวนาประกอบ เอาจุดที่ตั้ง ก็ที่ตรงปลายจมูก กำหนดพุทโธ ๆ ๆ โดยไม่ต้องมองหรือคำนึงถึงผลที่เคยได้ประสบมา แล้วเมื่อกำหนดพุทโธ ๆ จนจิตของเราไม่ไปต่ออารมณ์สัญญาภายนอก มันก็จะน้อมเข้าสู่ความสงบได้ง่ายสบายมาก

อย่างพวกผมทำนะครับ ที่ผลของสมาธิไม่คำนึง อย่างผมนี้อะไรจะเกิด ก็แล้วแต่ไม่มีสนใจ จนสามารถบังคับให้รับรู้จนถึงจุดที่เราจะต้องการ แจ๋ว..แล้วการแจ๋วนี้ จะไม่มีการกด ไม่มีการดัน ไม่มีมึนงง ตรงไหนสักอย่าง แต่งได้ถูกต้องหมด กำหนดเป็นอันว่ากำหนดรับรู้ที่ปลายจมูก แจ๋วอยู่ตลอดเวลา ถึงขนาดนอนบางทีนะทั้งคืน จะไม่ให้หลับก็ได้ จะแจ๋วและมีลมหายใจเข้าออกปกติรับรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่มีหรี่ลงหรอกครับ

พอตอนเช้าขึ้นมาลืมตาขึ้นมาก็ไม่มึนงง โล่ง..ธรรมดา แต่เรารับรู้ได้ว่าไม่หลับแต่อย่างใด เพราะแจ๋วอยู่ตลอดเวลา ต่อจากนั้นไปการน้อมเข้าสู่ฐานแห่งความสงบง่าย เพราะว่าจิตของเราอยู่ในอำนาจของตัวบังคับของตัวคุ้มครองที่เราเรียกว่า “ตปธรรม” นั้นสมบูรณ์ แล้ว การน้อมเข้าสู่ฐานแห่งความสงบนั้นมันง่าย”

“ทีนี้ ลักษณะการน้อมเราก็ย่อมรู้นะครับ พออารมณ์กลมกล่อมแล้ว ก็จะมองรู้สึกมีลักษณะการลงของจิต มีขึ้นมาทันที มีลักษณะ วูบลงไป ลักษณะเหมือนอย่างลงลิฟท์ครับ ถ้าสังเกตดี ๆ ก็มีลักษณะเหมือนลงลิฟท์”

“ผมขอเล่าอย่างเปิดเผยตามที่ได้ประสบการณ์มานะครับ ลงถึงอันดับที่ ๑ มีลักษณะอิ่ม มันอิ่มเต็มในหัวอกหัวใจ มันอิ่มจริง ๆ อิ่มอย่างบอกไม่ถูก จะไม่เหมือนอิ่มข้าว มันอิ่มเต็ม ถึงแม้ว่าจะออกจากสมาธิไปแล้ว การเดินเหิน ก็จะไม่เหมือนบุคคลธรรมดา เป็นบุคคลสมบูรณ์ สุขุม หนักแน่น การก้าวขา การมองซ้าย แลขวา สุขุม”

“หากเข้าไปถึงอันดับที่ ๒ นะครับ มันจะมีความเมตตาสงสารนึกถึงหมู่คณะเกิดมาเสียชาติเปล่า ๆ ได้มานั่งเสวยผลของสมาธิก็ยังดี อะไรเหล่านี้ นึกย้อนลงไปแล้ว น้ำตาก็จะไหลครับ แต่อยู่ในอันดับนี้ไม่อยากคุยกับใคร ใครจะมาคุยด้วยก็ไม่เอา รำคาญ ชอบหลบไปนั่งอยู่คนเดียว เคลิ้ม”

“ถ้าเข้าไปถึงอันดับที่ ๓ ลงไปเราจะรู้สึกว่ามัน เบา เหมือนจะเหาะจะลอยอย่างนั้นแหละ เราจะนั่งทั้งคืน มันไม่รู้สึกเหนื่อยหรอกครับ เหมือน ๆ กับมันลอยอยู่เหนืออาสนะนั่นแหละครับ ไม่มีกดดันเลย เมื่อเรานั่งสมาธิทั้งคืนลืมตาขึ้นมา ลุกขึ้นเกินไปไหนไม่มีเป็นเหน็บหรอกครับ ก็ปกติธรรม”

“ถ้าเราเข้าไปสู่อันดับที่ ๔ รู้สึกมันเย็นแผ่ว เย็น เหมือนได้ยาทิพย์มาชะโลม รู้สึกมันเย็นแผ่ว ๆ อันนี้อิ่มเอิบมาก อดข้าวอดปลาได้เป็นเดือน ๆ ก็ไม่ยอม อันนี้แปลกมาก แปลกจริง ๆ แล้วมีกำลังผิดคนธรรมดา การทำงานทำการอะไรแปลกมาก ที่ผมเคยคุยกับท่านเจ้าคุณฯ ให้ฟังหลายหนแล้วครับ”

“ถ้าเราสามารถประคองขึ้นอันดับที่ ๕ ได้ เหมือนได้ยาทิพย์ชะโลมทั้งตัว มันเย็นซาบซ่าไปทั่วทั้งตัว ถ้าคนเป็นโรคประสาท อันนี้ชัดจะเริ่มมีสติปัญญา เริ่มมีปัญญาดี มีความทรงจำดี เข้าใจอะไรถูกต้องขึ้นมาเป็นลำดับแล้ว”

“ถ้าอันดับที่ ๖ นะครับ อันดับนี้ รู้สึกว่ามันแบบโอกาส มันโปร่ง-โล่งไปหมดตลอดวิถีประสาทคล้าย ๆ มันมีอุคหนิมิตประกอบเหมือนกับแสงนีออนขาวโพลนเหมือน ๆ หมอกโล่งไปหมด”

“นี่เป็นลักษณะของกามภพ เราเข้าไปเสวยแค่นี้ ก็พอแล้ว เราเสวยแค่ ๖ ลักษณะ ในอันดับสมาธิ ๓ ฐาน อันนี้เรียกว่าพูดตามประสบการณ์ ไม่ได้พูดตามหลักปริยัติที่ว่า ขณิกะ อุปจาระ อัปปา มีลักษณะเช่นนั้น ๆ ผมไม่ได้พูดตามนั้น ตามลักษณะที่เข้าไปแต่ละจุดมันมี ๓ จุดใหญ่ ๆ แต่มี ๖ ลักษณะด้วยกัน”

“อันนี้ ขอให้พยายามมองเหตุ อย่าไปพยายามมองผล อย่าไปมองหาผล อย่าไปจ้องหาผล ให้พยายามมองเหตุ ประกอบเหตุ ผลนั้นจะปรากฏเอง ถ้าไปมองเห็นผล หรือว่าต้องการอยู่ในผลแล้ว จะไม่เป็นเลยเด็ดขาด ถึงแม้ลักษณะมันทำท่าจะเป็น พอวาบเดียวก็หายแล้ว มันเป็นอย่างนี้ครับ”

ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี

“มันมีลักษณะบางอย่างที่เกิดขึ้นกับผู้บำเพ็ญใหม่ ๆ เช่น เมื่อนั่ง ๆ ไป เกิดอาการคันไปตามใบหน้า เหมือนกับมีไร มีมดมีแมลง มาไต่ตอม พอปัดดูก็ไม่มี แล้วก็เหตุการณ์แบบนี้ จะเป็นอยู่บ่อย ๆ จะเกิดขึ้นกับบุคคลที่บำเพ็ญใหม่ ๆ มันจะหายไปได้อย่างไร”

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

“อันนี้ก็ไม่เห็นอะไรนี่ครับ เราทำความรู้เท่าทันหน่อยหนึ่งเท่านั้นเองครับ ก็มันเป็นเพียงแค่ความรู้สึก เป็นความเข้าใจของเราเอง มันเป็นกับผมบ่อย ๆ บางทีมันก็เหมือนกับยุงมากัดที่ปาก นี่ในขณะที่ทำใหม่ ๆ นะครับ เหมือน ๆ กับมันกัดมันแทงเข้าไปจริง ๆ พอเราลองมือลูบก็ไม่มีอะไร บางทีเหมือนกับมดมันขึ้นมา มดดำ มดคัน เหมือนมันไต่ขึ้นมา ลอง ๆ ดูซิว่ามันจะไต่ไปได้แค่ไหน เหมือนกับมันกัดไปหมดทั้งตัว พอลืมตาขึ้นมาดูก็ไม่มี มันเป็นเพียงความรู้สึกของเรา นึกอะไรขึ้นมาก็เป็นอย่างนั้นไปเลย

เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่เราสร้างอำนาจของสมาธินี้ ซึ่งเป็นตัวบังคับขึ้นมาพอสมควรแล้ว เรานึกอย่างไหน มันก็อย่างนั้น นึกว่ามดกัดก็กัด นึกถึงภาพก็เป็นภาพ นึกเป็นอย่างไรก็อย่างนั้นแหละครับ ของมันนึกได้ เพราะฉะนั้น เราทำความรู้เท่าที่ว่าอันนี้เป็นเพียงความรู้สึกนึกคิด ไม่ใช่เรื่องจริง มันก็หมดไป”

ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี

“ขอย้ำอีกทีว่าความรู้สึกมันจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ว่ามันคันไม่หายต้องไปลูบไปเกามันหรือไม่สนใจมัน มันไม่หายจะทำอย่างไร”

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

“มันเป็นอุปาทาน ให้เรารู้เท่าทันว่าเป็นอุปาทานให้มันแน่ชัดลงไป มันจะหยุดทันที”

ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี

“มันเป็นอยู่อย่างนี้สำหรับผู้ฝึกใหม่ ๆ จะเกิดมาก พอนั่งหลับตาภาวนาบางทีได้ ๓ นาที ใจก็ไปอีกแล้ว พอดึงกลับมาได้ มันก็ไปอีกแล้ว ทำอย่างนี้บ่อยที่สุด จะมีวิธีใด อย่างไรจะให้มันหยุดได้ไว และจะให้มันอยู่อยู่กับที่ได้นาน ๆ”

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

“อันนี้ก็มีอยู่ว่าโดยมากผู้ปฏิบัติก็มักจะมีความโมโหเข้าประกอบ พอจิตมันไปเราดึงกลับมา มันก็ยังไปอีก เป็นบ่อย ๆ มันก็ชักจะเอาละครับ ชักจะมีอารมณ์หงุดหงิด อาการหงุดหงิดชักจะกระแทกกันละทีนี้ ยิ่งเอาเลยชักจะแห เขาเรียกว่าแห ภาษาเมืองจันทร์เขาเรียกว่าแห กับภาษาอีสานแหใหญ่เลยครับ ยิ่งไม่เอาเลยครับ จับไม่อยู่

เพราะฉะนั้นการทำสมาธิต้องนิ่มนวล ถ้าเรากำหนดรู้ว่านี่เป็นสมาธิ เราจะทำใจดี ๆ ไว้เอาละทีนี้กำหนดใหม่ ทำใจเย็น ๆ สบาย ๆ อย่าให้มีอารมณ์โมโหเข้ามาประกอบง่ายกว่าอะไรทั้งหมด แล้วการกำหนดนั้นเราต้องกำหนดแบบที่เรียกว่าอย่าไปคิด อย่าไปค้น รับรู้เฉย ๆ ก็จะสบายมาก สบายโปร่ง และก็พยายามสังเกตอยู่เรื่อย ๆ ไปในเวลาพักบำเพ็ญ

เมื่อเรากำหนดลมหายใจเข้าออก ถ้าเรามีอาการเพ่งหรือกดดันตัวเอง เราจะมีความรู้สึกหลายอย่าง เช่น มีอาการมึนชา งงศรีษะ อันนี้หยุดปล่อยเด็ดขาด เดี๋ยวได้เรื่อง ให้กำหนดใหม่ เพียงรับรู้เฉย ๆ ไม่เพ่ง ไม่กดดัน จะสบายโปร่งหรือกำหนดไปแล้วคอมันแห้ง ไม่มีน้ำลายจะไออยู่ท่าเดียว หรือกำหนดแล้วจะมีน้ำลายสอไหลไม่หยุด ไหลอยู่เรื่อย ๆ อยู่ทั้งกะปี เพราะไปกดต่อน้ำลาย อันนี้ใช้ไม่ได้

ในเมื่อกำหนดลงไปแล้ว จังหวะการเต้นของหัวใจเป็นปกติ โล่งสบาย อันนั้น ถึงแม้ประคองจิตก็ดีกว่าอะไรทั้งหมด ง่าย ถ้าเรามีการเก๊กกดดัน ไม่สบายตั้งแต่เริ่มต้น เราก็เริ่มบังคับจิตของตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นทำให้ถูก ทำให้นิ่มนวล อย่าให้มีอารมณ์โมโห แล้วอย่าให้มีอาการเก๊กหรือกดดัน เพราะกลัวว่าจะไปเก๊ก หรือกดดันอย่างเดียว อันนี้จำไว้ให้ดี”

ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี

“นั้นเป็นวิธีแยบคายอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นท่านองค์ใดหรือนักศึกษารูปใด เกิดแบบนี้เข้า ก็ทดลองดู เพื่อว่าจะได้ผล แต่ที่นี้สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ ๆ ยังมีอีกหลายเรื่องสำหรับการปฏิบัติของตนก็ว่าต้องการส่วนนี้ แต่ว่ายังไม่มีความชำนาญ โดยเฉพาะการเดินจงกรม นั่งสมาธิ บางท่านก็หลับบางท่านก็นั่งอย่างเดียว บางท่านก็เดินอย่างเดียว ทางที่ดีก็ควรจะทำอย่างไร”

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

“อันนี้ ถ้าจะว่าในทางที่ดี ตามที่ผมได้ศึกษามาจากหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร มันก็อยู่ที่สุขภาพเหมือนกัน แต่ในทางที่ดีแล้ว ควรจะให้สม่ำเสมอกัน เดิน นั่ง ยืน นอน การนอนทำสมาธิ ยืนทำสมาธิ นั่งทำสมาธิ หรือเดินจงกรมนี้ ผมก็เชื่อครูบาอาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้ (พระนักศึกษา)

ท่านต้องเข้าใจ แต่เราต้องประกอบให้พร้อมทั้ง ๔ อิริยาบถนี้ ให้สม่ำเสมอกัน แต่มันก็แปลกอยู่นิดหนึ่ง โดยมากครูบาอาจารย์ก็มักจะสอนแบบเหมือน ๆ กัน”

“โดยเฉพาะหลวงปู่มั่นแล้ว ตามที่ผมได้ศึกษามา ท่านให้สัมผัสรับรู้ในการก้าวเหยียบนะครับ สมมุติว่านั่ง เรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก ยืนก็เหมือนกัน นอนก็เหมือนกัน แต่เดินให้เปลี่ยนสัมผัสในการเดินก้าวเหยียบ ก้าวขาขวา พุท ขาซ้ายโธ สมมุติทางเดินจงกรมว่า ถ้าเราจะเดินไปหาตู้ (ประมาณ ๒๕ ก้าว) เราก็หันหน้าตรง ๆ เดินบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ

การวางมือก็วางมือซ้ายก่อนโดยคว่ำลง แล้วเอามือขวาวางทับ แล้วก็เดิน อย่าเร็วนัก อย่าช้านัก พอก้าวไปสุดปลายทางก็หยุดสักหน่อยหนึ่งแล้วก็หมุนตัวไปทางขวา ไม่ใช่ทางซ้าย พอหันกลับมาตรงก็ก้าวขาขวาอีกพุท ขาซ้ายโธ กำหนดพุทโธ ๆ ๆ จนกระทั่งถึงสุดทางนี้ก็ยืนนิดหนึ่ง แล้วก็หันกลับไปกลับมา ทอดสายตาไกลนักก็ไม่ดี ใกล้นักก็ไม่ดี

อันนี้มันอยู่ที่ประสาท จะไปกำหนดอยู่ตายตัวไม่ได้ต้องให้พอดี ๆ เราก็มองสายตาลงแล้วก็เดินไปเรื่อย ๆ อย่าหลับตาเดิน แต่บางองค์ท่านก็เดินหลับตาแล้วก็เป๋ไปเป๋มา ก็ไม่ดีครับ บางท่านบางองค์ขึงด้ายสายสิญจน์เลยก็มีครับ พอหลับตามือก็ลูดไปตามด้วยสายสิญจน์ อันนี้ไม่ได้นะครับ มันก็ต้องลืมตาอยู่นั่นเอง และก็กำหนดพุทโธ ๆ เหมือนกัน

“ทีนี้ อย่าว่าแต่เพียงเกินเลยครับ แม้แต่ชั่งก็เหมือนกัน นั่งสมาธิไม่ใช่นั่งจนตัวตรงเลยทีเดียว นั่งตรงทีเดียวนั้นก็ไม่ดี ต้องหย่อนเอาแค่พอดี ๆ ที่สุด เอาแค่สบายที่สุด สบายแค่ไหนก็เอาแค่นั้นแหละครับ กำหนดลมหายใจเข้าออกพอดี ๆ อีก ไม่หนักไม่เบาเกินไป เพราะการทำสมาธิไม่ใช่วิธีเก๊ก หรือกดดัน ไม่ใช่วิธีบังคับ เป็นวิธีที่ด้วยความแยบคาย อยู่ในลักษณะสบาย ๆ ไม่มีการกดดันในการทำสมาธิ

เพราะฉะนั้นเมื่อเราเป็นสมาธิแล้ว เป็นอุบายที่เราจะแก้จิตของเรา ในระหว่างที่เราจะลุ่มหลงด้วยผลของสมาธิก็ดี ในระหว่างที่เห็นผลของสมาธิแล้ว จะนำออกใช้ภายนอกเพื่อฤทธิ์เดชเพื่ออวดอ้างต่าง ๆ เพื่อลาภ สักการะ เพื่อคำสรรเสริญ เยินยอก็ดี เพื่ออุบายวิธีที่จะเป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นประมุขประธาน เป็นความคิดที่อยู่ในอำนาจกิเลส มันก็จะมีความคิดอย่างนี้

พอได้คิดอย่างนี้ก็เอาละครับทีนี้ เห็นสิ่งมหัศจรรย์จะเอาแสดงออก อย่างนี้ก็ต้องรีบแก้ไขหักห้ามทั้งหมด ความรู้จักหักห้ามของตัวเองว่าเรามีนิสัยอย่างไร สมควรที่เราจะทำอะไรก่อนแค่ไหน ขนาดไหน ประโยชน์นั้นมันไม่ใช่ของที่เราจะต้องทำก่อน

เราจะต้องห้ามปรามกันอยู่เสมอ มันถึงจะไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ตามผลของสมาธิ เราก็พร้อมที่จะเป็นไปได้ทุกอย่าง อันนี้มันถึงจะทำไปได้ตลอด”

(วิธียืนทำสมาธิ และนอนทำสมาธิ รายละเอียดอยู่ในหนังสือ “แนะวิธีทำสมาธิ” โดยท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย)

ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี

“คือว่าบางท่านเร่งความเพียรมาก ๆ สมมุติว่าผู้ฝึกใหม่ ๆ คือ อยากทราบว่าจะต้องใช้เวลาพักผ่อนประมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม”

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

“อันนี้ก็อยู่ที่สุภาพ ถ้าสุขภาพอยู่ในลักษณะปกติดี กลางคืน ๔ ชั่วโมงกำลังดี”

ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี

“ถ้าหากว่าสมาธิดีแล้วทั้ง ๒๔ ชั่วโมงจะพักได้กี่ชั่วโมง”

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

“คือตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึงบ่าย ๒ (ตี ๒) ก็จะดี”

ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี

“ส่วนกลางวันจะพักเท่าใหร่”

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

“ในสมัยนั้นผมไม่ได้นอนกลางวัน จะป่วยหรือไม่ป่วยก็ตาม ผมไม่นอนเด็ดขาด ผมเอาเฉพาะกลางคืนแค่ ๔ ชั่วโมงพอแล้ว แถมบางคืนผมก็ไม่ได้นอนเอาเสียด้วย เพราะสุขภาพของผมดี และก็มีสมาธิมีส่วนผมอยู่”

ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี

“ฉะนั้น เป็นอันว่าวันนี้นักศึกษาได้รับคำอธิบายจากท่านอาจารย์”ได้หลายอย่าง นับว่าเป็นความกรุณาของท่านที่ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจ เป็นกำลังใจของผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ ๆ ในนามของทางมหาวิทยาลัย ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงที่ได้กรุณาอธิบายเป็นกำลังใจแก่นักศึกษาในวันนี้”

ฝึกกรรมฐานของพระนักศึกษา มมร.รุ่นที่ ๒๔
วัดราษฎร์บูรณะคุณาราม (เขาสุกิม)
๒๓ เมษายน ๒๕๒๐

**ไม่อนุญาตให้นำไปเพื่อการค้าหรือจำหน่าย แต่สามารถพิมพ์แจกเป็นธรรมทานได้