ทีนี้ก็พวกเราก็มากันหลายบ้านหลายเมือง
หลายตำแหน่งหลายหน้าที่หลายอาชีพ พูดถึงส่วนใหญ่ของพวกเราก็อยากจะบำเพ็ยตนให้เป็นไปตามจุดที่ถูกที่ควร
ซึ่งเป็นสายทางของพระอริยเจ้ามีพระพุทธเจ้าเป็นประธานที่ท่านดำเนินไปแล้ว
พวกเราอยากจะเจริญรอยตามยุคลบาทของท่าน แต่พูดถึงนโยบายการดำเนินทางด้านสมาธิจิตนี้
บรรดาแต่ละครูบาอาจารย์ก็ไม่สู้จะเหมือนกันนัก ถึงแม้จะเหมือนกันเป็นบางอย่าง แต่อีกบางอย่างก็ไม่เหมือนกัน ในยุคสมัยที่อาตมาอยู่กับท่านอาจารย์ใหญ่ มั่น ภูริทัตตเถรนี้ ได้เคยสังเกตพระเณร ซึ่งมีความเห็นดูเหมือนจะแยกออกเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งมีความเห็นในปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่นนี่ หนักไปในทางอุบายที่จะสร้างกำลังมาเพื่อจะปรับปรุงตัวของตัวเอง ให้เป็นไปในรูปที่ควรให้เหมาะสมกับเราผู้เป็นลูกศิษย์ของพระตถาคต และก็อีกบางพวกต้องการไปในทางอภิญญาณสมาบัติ หรือต้องการในรูปของความสุขในด้านสมาธิ อะไรในทำนองนี้ เพราะฉะนั้น จึงแยกออกเป็น ๒ พวก พวกที่ต้องการจะเอาคุณธรรมที่บำเพ็ญได้ มาเพื่อปรับปรุงตัวของตัวเอง มองเห็นได้ว่ารู้สึกละม่อมละไมน่าเลื่อมใส แล้วก็อีกพวกหนึ่งทีต้องการอยากจะเห็นผี เห็นเทวดา ให้เกิดญาณต่าง ๆ อตีตังสญาณ ญาณที่เป็นไปทางด้านอดีตความเป็นมาของโลกเป็นมาอย่างไรบ้าง อยากจะรู้อยากจะเห็น อนาคตังคญาณ ส่วนอนาคตที่ยังไม่มาถึง ก็อยากจะพยากรณ์ให้ถูก หรือบางพวกนั่งเพื่อต้องการเอาความสุขเป็นผลของสมาธิชั่วคราว อะไรเหล่านี้ เป็นต้น เท่าที่สังเกตกิริยาแสดงออกพวกนี้รู้สึกผาดโผน ไม่ค่อยคำนึงถึงกิริยาอาการที่แสดงออก เพราะฉะนั้น แยกได้เป็น ๒ จำพวก เท่าที่สังเกตดู ทีนี้ส่วนอาตมาเองก็ได้ศึกษาอยู่ สำนักของท่านอาจารย์ แล้วก็ฟังอุบายวิธีของครูบาอาจารย์หลายท่านหลายองค์ที่แนะนำ ก็รู้สึกว่าเข้าใจผิดอยู่พักหนึ่ง ซึ่งอุบายที่อาตมาเดินในสมัยนั้น สงสัยจะเข้าในรูปลัทธิที่เรียกว่า ภวังคตาจิต เพราะตามรูปเท่าที่สังเกตดู บางท่านก็คงจะได้ทำเข้าสู่จุดนี้เหมือนกัน คือ ต้องการมุ่งจะให้มีสติ คุมความคิดของจิตว่าง่าย ๆ ไม่ให้จิต วอกแวกออกไปต่ออารมณ์สัญญา แต่ไม่มีอุบที่จะสร้างปัญญา รู้ถึงจิตที่แลบไปต่ออารมณ์สัญญา มันเป็นไปในรูปอย่างไรแล้วจะแก้ไขด้วยวิธีอย่างไร และสิ่งนั้นมันมีผลเป็นอย่างไรบ้าง ในอุบายวิธีที่จำดำเนินอย่างนี้ไม่มี เพียงแค่มีสติควบคุมความคิดของจิต ให้อยู่ กำลังความคิดของสติที่สร้างขึ้นมา นี่เป็นจุดมุ่งหมาย วิธีที่ทำก็รู้สึกว่าเหมือน ๆ อย่างครูบาอาจารย์ที่สอนทั่ว ๆ ไป บางองค์ก็มักจะสอนแบบใช้บริกรรมภาวนาแบบเดียว เช่น พุทโธ ธัมโม หรือสังโฆ หรือ จาโค หรือ ตาย ๆ อะไรก็แล้วแต่ หมายความว่า เราเอาคำบริกรรมอย่างไหนทำให้จิต ของเราอยู่ก็เอาแบบนั้น วันนี้รู้สึกว่านึกถึงความตายเกี่ยวกับ มรณานุสสติ บริกรรมว่าตาย ๆ ๆ ทำให้จิตรวมได้ง่ายสะดวก แต่วันหลังอาจจะรวมไม่ได้เราก็เอาใหม่ พุทโธ ธัมโม หรือ สังโฆ อะไรอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าผู้มีบริกรรมภาวนาอย่างเดียว เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนียว อยากจะทราบว่า จิตจะเคลื่อนไปสู่อารมณ์สัญญาได้ไหมแล้วก็อุบายวิธีสร้างกำลังสติ ให้มีกำลังพอกับความต้องการ เพื่อที่จะครอบหรือบังคับความคิดของจิตนี่ให้อยู่ในอำนาจตัวบังคับ นี่จุดมุ่งหมาย ทีนี้ทำกันอยู่ตั้งหลายปี พุทโธ ๆ อยู่นั่นแหละ ก็รู้สึกว่าเมื่อกำลังของสติแก่กล้าจริง ๆ เรื่องจิตที่จะเล็ดลอดไปต่ออารมณ์สัญญา ก็ไม่มีโอกาสที่จะไปได้เหมือนกัน ก็เป็นอันว่ากำลังตัวบังคับนี่ ดึงให้อยู่ในอำนาจของตัวอยู่ตลอดเวลา (ตึงให้อยู่ในอำนาจของกำลังตัวบังคับตลอดเวลา) ผลที่สุดจิตมันจะจม ดิ่ง ลงไปสู่ภวังคตาจิต คือว่าเข้าไปสู่สมาธิจิต อันดับที่หนึ่งที่สองที่สาม คือตามลักษณะของความสงบนี้ นี่เล่าถึงสมาธิที่ผิดให้ฟังก่อน เพื่อจะเอาไปเปรียบเทียบกับสมาธิที่ถูก แล้วจะได้เอาไปดำเนินต่อไป ทีนี้การสงบมันมีหลายแบบอย่าง บางทีเหมือนฟ้าผ่า เปรี้ยงลงมา กุฎิหักพับลงไปเลย อย่างนั้นก็มีบางทีก็เหมือนกระโดดลงไปในที่ลึก ๆ ลงไปก็มี บางครั้งบางคราวก็เหมือนเราลงลิฟท์ ยุบ ๆ ลงไป มีลักษณะที่เรียกว่า น่ามีความสุข แต่ถ้าเราเข้าไปสู่จุดสมาธิที่หนึ่ง มันมีข้อสังเกตอยู่ รู้สึกสันมีความอิ่มเต็ม มันอิ่มในหน้าอกรู้สึกมันอิ่มในหน้าอก อิ่ม..ในหน้าอกและในหัวอก หัวใจ มันอิ่มอย่างไรชอบกล ๆ ความอิ่มอันนี้มันไม่ใช่ความอิ่มอย่างเดียว มันมีความสุขความสบายด้วย ผู้ที่ต้องการในผลสมาธิแค่นี้ ก็เข้าไปแช่เย็นฝัง ดื่มด่ำอยู่ในผลของสมาธิตลอดเวลา อันนี้เป็นผลของสมาธิอันดับที่หนึ่ง ถ้าสามารถมีสติคุ้มครองเองดี เข้าไปสู่สมาธิอันดับ ปรากฎว่ามัน เบา ลอย เหมือน ๆ กับเรานั่งบนอากาศ แล้วก็รู้สึกเย็นในหน้าอกแผ่ว ๆ แหมรู้สึกว่ามีความสุขสบายจริง ๆ เราจะนั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืนที่ไม่ต้องลุกก็ได้ หรือบางทีเหมือน ๆ จะนั่งสักอาทิตย์หนึ่ง ข้าวไม่ต้องสุขสบายจริง ๆ เราจะนั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืนที่ไม่ต้องลุกก็ได้ หรือบางทีเหมือน ๆ จะนั่งสักอาทิตย์หนึ่ง ข้าวต้องฉันหรอก ไม่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถหรอก ดูเหมือนจะเอาได้ เท่าที่สังเกตดูนะ ก็แปลกดีเหมือนกัน อันนี้เขาเรียกว่าอยู่ในอันดับสมาธิขั้นที่สอง ถ้าเข้าไปสู่อันดับสมาธิขั้นที่สาม จะรู้สึกว่ามีความเย็นซาบซ่าไปทั่วสรรพางค์กาย และมีแสงสว่าง โปร่ง โล่ง ไปหมด ถึงแม้จะถอนสมาธิออกมาแล้ว ประสาทหรือสมองมันโปร่ง แหม..มองถึงอะไรต่ออะไรต่าง ๆ คล้าย ๆ มันเข้าใจถูกไปหมด มันโปร่งมันโล่ง เพราะฉะนั้น หลักสมาธิทั้ง ๓ ประการ หรือผลของสมาธิทั้งสามอย่าง อย่าง ซึ่งเป็นผลของสมาธิแต่ละขั้น ตามรูปดังกล่าวนี้ก็เรียกว่าผลของสมาธิที่เป็นไปในทางลัทธิภวังคตาจิต เท่าที่เคยสังเกตอยู่เป็นเวลาหลายปี ก็รู้สึกว่าการอิ่มอ่ำอยู่ในผลของสมาธิ มันก็เป็นไปอยู่ชั่วระยะหนึ่ง มันก็ลืมอารมณ์นอก ลืมความเพลิดเพลินแบบโลก เพราะมันสิ่งที่ทำให้เราดื่มด่ำ กำลังหลง กำลังเพลินเพลิน กำลังดื่มด่ำเต็มที่อยู่ แต่นาน ๆ เข้า เมื่อมีเหตุการณ์มากระทบ มันก็เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์ ซึ่งเหตุการณ์ที่จะชวนให้เราโกรธ โมโหฉุนเฉียว มันก็รู้สึกเป็นไปเป็นไปตามรูปนั้นเลยทีเดียว หรือไปเจอสิ่งที่น่ารักน่าชอบ มันก็รักมันก็อบใจ ถึงแม้ว่าบางทีจากสิ่งนั้นไปแล้ว อันนั้นมันเป็นอดีตไปแล้ว มันก็ยังคิดถึง ยังต้องการ ยังอยากได้ อะไรเหล่านี้เป็นต้น เท่าที่สังเกตดูในตัวของตัวเองมันก็มีอยู่อย่างนี้เสมอ ๆ จึงมานึกถึงพระพุทธเจ้าว่าในครั้งที่พระพุทธเจ้าออกบวชแล้ว แสวงหาโมกขธรรม ไปเจอครูบาอาจารย์ที่แนะนำในลัทธิข้อปฏิบัติที่จะเป็นไปเจอความสำเร็จมรรคผล เมื่อพระองค์ดำเนินไปแล้วผลของสมาธิก็ปรากฎ แม้แต่ภวังคตาจิตนี้พระองค์ก็ได้ และได้ดำเนินตามลัทธินี้เหมือนกัน แต่พระองค์ก็มามองถึงความรู้สึกทางด้านจิต กันก็เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์สิ่งกระทบ จะชวนให้หัวเราะร้องไห้เป็นทุกข์อะไรต่าง ๆ ก็รู้สึกจิตใจนี้เข้าสู่ระบบของเหตุการณ์อยู่ ไม่มีอะไรต้านทานหรือตัดขาดลงได้ ถึงแม้เราจะข่มมันก็ได้ชั่วครูชั่วคราว มันไม่แน่นอนไม่เด็ดขาด ท่านจึงว่าถึงแม้ครูบาอาจารย์สมมุติตัวของท่านเป็นอริยบุคคลท่านก็คือว่าเป็น ปุถุชนอยู่ เพราะเห็นชัด ๆ ในทางด้านจิตใจว่า มันยังหลงในสิ่งที่ไม่ควรหลง ไม่เป็นไปตามรูปและตำราที่สั่ง ว่าเมื่อผู้รู้เท่าสภาพธรรมหรือรู้เท่ากฎธรรมดาของโลกแล้ว หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่ารู้เท่าโลกธรรม ๘ แล้ว ไอ้ความรู้เท่าจะทำให้จิตปกติ ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม แต่ทีนี้เรายังไหวต่อโลกธรรมอยู่จะจัดว่าเป็นอริยชนไม่ได้ พระองค์จึงมาคลำหาทางที่จะดำเนินให้เป็นไปเพื่อความสำเร็จธรรม เมื่อพระองค์มาพิจารณาถึงเรื่องภพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการจะทำลายนั้น ก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็หมายถึงภพของจิต ถ้าจะหมายถึงร่างกายแล้วส่วนร่างกายนี้หากในเมื่อถึงที่สุดแห่งชีวิตมันก็ต้องสลายไปตามธาตุโลก ถึงแม้ว่ามันจะก่อมันก็แบบที่เรียกว่าอาจจะไม่ใช่รวมจุดนั้นเข้ามาเป็นก้นอันนั้นขึ้นมาอีก แต่สำหรับด้านจิตใจนี้แล้วมันเป็นตัวอมตะ จะต้องไปสู่ภพแต่ทีนี้ส่วนภพของจิตที่มันไปต่อได้ มันต่อกันอยู่ ณ สถานที่ใด มันมีรูปลักษณะความเป็นไปอย่างไร อะไรเหล่านี้เป็นต้น พระองค์เกิดสนใจในทางนี้ พระองค์จึงเห็นได้ว่าภพของจิต คือจิตอยู่ใต้โลกธรรม ๘ ก็ไม่มีอะไรอื่นไกล เหตุการณ์ที่กระทบอยู่เป็นประจำวัน สิ่งที่ต้องการ ไม่ต้องการ รัก หรือ เกลียด โกรธอย่างนี้นี้ซึ่งมันกระทืบความรู้สึกของจิตเป็นไปตามรูปเหตุการณ์ อันนี้เรียกกว่าเป็นไปตามโลกธรรม ๘ ตกอยู่ในอำนาจของโลกธรรมไม่รู้เท่าสภาวธรรมหรือโลกธรรม หรือเมื่อปล่อยให้จิตดำเนินเข้าสู่อารมณ์ดังกล่าว ก็เรียกว่าปล่อยให้จิตเข้าสู่ภพของจิตเป็นปกติ ไม่มีกำลังอะไรที่จะเข้าไปทำลายได้ เมื่อพระองค์มาเข้าใจถูกต้องแล้วพระองค์ก็สร้างกำลัง แต่พระองค์ดำเนินในทางอานาปนสติวิธี คือ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ดุจในที่แนะนำทางด้านมิจฉาสมาธิคือสมาธิที่ไม่ชอบ นั้นเหมือนกัน แต่ท่านรวมเอากำลังมาเพื่อดำเนินอีกแบบหนึ่ง เช่น กำหนด พุทโธ ก็ตามหรืออาจะธัมโม สังโฆ ราโค อะไรก็แล้วแต่ โดยกำหนดที่ปลายจมูกเป็นที่ตั้ง โดยจะหาอุบายวิธีผูกจิตของเรามั่นคง ไม่ให้วอกแวก เพราะผู้ทำใหม่ ๆ จิตมันวอกแวกหรือไวต่ออารมณ์ อาจจะไม่มีอุบายอะไรข่มให้อยู่ในอำนาจนั้นได้ จึงมีจุดที่ตั้งที่ปลายจมูกเอาไว้ แล้วก็มีลมหายใจเข้า-ออกนี้เป็นเครื่องยึดอีกต่อหนึ่ง และมีบริกรรมภาวนาซึ่งมีลมหายใจเข้าหายใจออกว่า พุทโธ ๆ อีกอย่างหนึ่ง อาศัยหลายอย่างเพื่อยึดไว้ ไม่ให้จิตวอกแวกออกไปต่ออารมณ์สัญญาได้ง่าย พุทโธ ๆ อีกอย่างหนึ่ง อาศัยหลายอย่างเพื่อยึดไว้ ไม่ให้จิตวอกแวกออกไปต่ออารมณ์สัญญาได้ง่าย พุทโธ ๆ อยู่เช่นกัน มันก็กำลังชนิดหนึ่งสูงขึ้นมาเช่นกัน แต่ส่วนกำลังที่สร้างขึ้นมานี้เอาไปใช้อีกแบบหนึ่ง เช่น เอามาใช้กับความรู้สึกของจิต เช่น เหตุการณ์ที่กระทบจะชวนให้เราโกรธโมโห เมื่อมันมีความรู้สึกโกรธโมโห ก็เอากำลังส่วนที่หน้าปรามไม่ให้จิตไปคิดให้เป็นไปตามสัญญาอารมณ์ที่ผ่านมาแล้ว คือ คอยเอามาห้ามปราม หรือว่ากดดันเอาไว้ หรือ เป็นเบรค ยับยั้ง แล้วก็ใช้บทวิจารณ์ว่าเมื่อจิตไปต่ออารมณ์สัญญาอย่างนี้ มันมีผลเสียผลดีอย่างไรบ้างอะไรเหล่านี้เป็นต้น พยายามทำอย่างนี้เสมอ ๆ จนกว่าจะเกิดความชำนาญขึ้น จนกระทั่งการลุกขึ้นนั่งหยิบของวางของ หรือเราจะไปนั่ง ณ สถานที่ใด คุยกับบุคคลผู้ใด มีฐานานุรูปเป็นไปอย่างไร เราจะคุยขนาดไหนจึงจะไม่เกิดกับเพศวัยฐานของเรา จึงจะไม่เกินกับท่านผู้ฟัง หมายความว่า ผู้ฟังอาจจะไม่รู้เรื่องอะไรเหล่านี้เป็นต้น เราก็ใช้บทวิจารณ์และคำนวณอยู่เสมอ โดยว่าไม่ให้เป็นไปตามกฎธรรมดา เช่น มันเกิดมีความรู้สึกอย่างไรก็ปล่อยเป็นไปตามธรรมดา คือ หมายความว่ากำลังที่เราสร้างขึ้นมา สมมุติว่าเป็น อริยมัคคุเทศก์ ตัวที่จะนำเราเข้าไปสู่ความเป็น อริยบุคคล เอากำลังตัวนี้เป็นพิพากษาความ คอยตัดสินความอยู่ภายในเสมอ เช่น เราจะลุกขึ้นจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับเราผู้เป็นสมณะ จึงจะเหมาะสมกับเราผู้เป็นอุบาสกอุบาสิกาในพระพุทธศาสนาเป็นศิษย์ที่มีครู กิริยาอาการที่แสดงออกจะทำอย่างไร จึงจะไม่เป็นไปเพื่อความครหา หรือเป็นสิ่งที่น่าเกลียด น่าชังซึ่งบุคคลผู้ได้เห็น อะไรเหล่านี้เป็นต้น พยายามหาบทวิจารณ์อะไรมาคอยตอนให้เสมอ จะลุกทีหนึ่ง จะนุ่งทีหนึ่ง จะหยิบของวางของ อะไรเหล่านี้เป็นต้น ไม่ให้เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาเลย มีกำลัง อริยมัคคุเทศก์นำพาจัดให้เป็นไปอยู่เสมอ จนกระทั่งความรู้สึกของจิตที่รู้ต่อสิ่งกระทบ ที่น่ารักและน่าชังอะไรเหล่านี้เป็นต้น ก็เอาอุบายอันนี้มาห้ามมาปรามมาแก้ไขอยู่ตลอดเวลา แล้วก็การทำสมาธิของเรา ๆ ก็พยายามทำให้เสมอไป เราจะเดินจงกรมก็ได้ จะนั่งสมาธิแบบพระท่านนั่งสมาธินั้นก็ได้หรือถ้าเราไม่มีความสามารถที่จะนั่งอยางนั้นได้ เราก็นั่งเก้าอี้ แล้วก็มือซ้ายไปวางมือขวาทับ แล้วก็ตั้งตัวให้ตรงพอสมควร ถ้ามันตึงเกินไปมันตึงไม่สะดวกหายใจมันอึอัดเราก็พยายามผ่อนให้สบายที่สุดนั่นแหละแล้วก็พยายามกำหนดลมหายใจเข้าออก ในท่าสบายที่สุดเช่นกัน ถ้าลมหายใจเข้าออกเบามันไม่สบายก็ให้หนักหนักมันไม่สบายก็ผ่อนหา สั้นนึกมันไม่สบายก็เอายาวยาวนักไม่สบายก็ผ่อนหา ให้พอดี ๆ ดีเรียบร้อยดีแล้วก็ให้พยายามกำหนดที่ลมหายใจเข้าออกหายใจเข้าพุธ หายใจออก โธ พุทโธ ๆ อย่าให้จิตวอกแวกไปต่ออารมณ์สัญญา เมื่อหากวอกแวกไปต่ออารมณ์สัญญาแล้ว เราพยามยามตั้งใหม่กำหนดลมหายใจที่ปลายจมูกใหม่เราก็ทำอย่างนี้แหละ เสมอ ๆ ทีนี้ถ้านั่งมันเหนื่อยเราก็เดินเอา เดิน มันก็แล้วแต่เส้นทางของเรามันยาวขนาดไหนแก่ไหนแต่อย่าให้ยาวเกินไป ถ้าจะพูดตามพอดีที่ทำแล้วประมาณสัก ๒๕ ก้าว กำลังดี พอไปถึงทางเดินจงกรมประนมมือขึ้นระลึกถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๆๆ น้อมถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของศาสนา พระธรรมเป็นอุบายให้เราดำเนินตาม พระสงฆ์ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีผู้รักษาไว้ซึ่งศาสนาธรรม อะไรเหล่านี้ เป็นต้น ขอนอบน้อมแด่ท่าน เสร็จแล้วก้าวขาขวาออกไป พุท ก้าวขาซ้ายออกไป พุทโธ แล้วอย่าเดินเร็วนักอย่าช้านัก อย่าไปเดินหนักให้ดัง ตึก ๆๆ เดินธรรมดาเรียบ ๆ เดินก้าวขาหนึ่งพุทขาหนึ่งโธจนกระทั่งไปถึงหัวเดินจงกรมทางโน้น แล้วก็เวียนขวา ยืนสักหน่อยหนึ่งก็ดีแล้วก็เวียนขวา พอตั้งตัวตรงมาถึงสายทางเดินจงกรมแล้ว ก็ก้าวขาขวาพุท ขาซ้ายโธ ทำอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ โดยอุบายก็ต้องการอยากจะให้สติสัมปชัญญะ คือ สมมุติกันสั้น ๆ ว่า ตัวอริยมัคคุเทศก์ ตัวที่จะนำเราไปสู่ความเป็นอริยบุคคล ต้องการจะสร้างตัวนี้ให้พอกับความต้องการ แล้วก็จะเอากำลังตัวนี้มาเป็นตัวพิพากษาตัวตัวตัดสินความว่าความรู้สึกของจิตซึ่งรู้สึกนี้ เมื่อเราประกอบให้เป็นไปตามความรู้สึกนี้ จะบังเกิดผลดีผลเสียอย่างไร ควรหรือไม่ควรเราจะเอากำลังตัวนี้ เป็นผู้พิพากษาตัดสินความหากในเมื่อไม่ควรจะห้ามทันที หากในเมื่อควรแล้ว เราจะได้ดำเนินตาม บางทีจิตมันงอแงสันดานไม่ดีมันชอบสะดวกชอบสบาย ไม่ชอบกระทำในสิ่งที่ควรกระทำเท่าที่พิจารณาเห็นว่าดี เราจะได้เอากำลังส่วนนี้บังคับหรือหาเหตุผลมาให้จิตของเราจิตของเรามีกำลังสมควรแก่งาน คึกคักต่อสู้ดำเนินไปให้เป็นผลสำเร็จได้ อันนี้โดยอุบายทั้งนั้น เราก็พยายามทำอยู่อย่างนี้ให้เสมอ ถ้าเหนื่อยแล้วเราก็ยืนบ้าง วิธียืนก็เราจะลืมตาก็ได้ หรือจะหลับตาก็ได้ แล้วก็วางมือคล้ายกันกับว่าเดินจงกรม วางมือซ้ายลงไปก่อนทับคว่ำหน้าเข้าไปหาตัวเราแล้วก็เอามือขวาวางทับเกาะข้างหลัง นี่วิธีเดินจงกรม แต่วิธี ยืนทำสมาธิก็เช่นกัน เพราะแบบเดียวกัน ถ้าหลับตารู้สึกว่าโยกเยกเราก็ลืมตา ทอดสายตาประมาณซัก ๔ ซอก ถ้ามันห่างนักไม่ดีก็ใกล้เข้ามา ใกล้นักมันไม่ดีก็เอาออกไป ให้พอดี ๆ นั่นแหละ ก็กำหนดพุทโธ ๆ อยู่เช่นกัน แต่โดยอุบายแล้วก็ต้องการจะสร้างกำลัง อริยมัคคุเทศก์ ให้มีกำลังเหนือจิตให้มีกำลังเหนือการเคลื่อนไหวทุกอย่าง ไม่ให้เป็นไปโดยธรรมชาติธรรมดากำลังตัวนี้จะวิ่งให้ทันทุกกิริยาอาการและจัดแต่ง ให้เป็นไปตามรูปที่ถูกที่ควร ให้เหมาะสมกับ เพศ วัย ฐานะ เป็นหญิงเป็นชายเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นเด็กวัยไหนก็แล้วแต่ การแสดงออกให้พอเหมาะพอดีกับเพศกับวัยกับฐานะของตัวเอง โดยอุบายแล้วก็ให้เป็นไปตามรูปนี้เสมอ จนกระทั่งเดิน ยืน นั่ง มันเหนื่อยแล้ว ก็นอน นอนก็ตะแคงขวา เอามือขวาวางซ้อนเข้าไปที่แก้ม แล้วก็เอามือซ้ายวางราบไปตามตัว วางขาทับกันกะตรงกับพอดี สังเกตดูถ้าตรงนักไม่ดี คู้เข้ามานิด ๆ หาวิธีทำที่สบายที่สุดก็กำหนดลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก พุทโธ ๆ เช่นกัน เป็นหลัก แต่ในอุบายวิธีที่ทำนี้ก็ให้เป็นในเดียวกัน คือมุ่งต้องการจะสร้างกำลังตัวคุมให้พอกับความต้องการ ทั้งนั้น ให้ทำอยู่อย่างนี้เสมอ ๆ แล้วอย่าเอากำลังส่วนนี้ไปใช้ในทางอื่น เช่น จิตมันจะยิ่งลงไป เราจะมองหรือกำหนดหาความสุขในผลของสมาธิแบบ เย็น เบา อิ่ม โล่ง โปร่ง เราก็ไม่เอา หรือต้องการอยากจะเห็นผีเห็นเทวดา ต้องการการอยากจะเห็นนิมิตก็ต่าง ๆ อันที่จะทำให้เราเกิด อภิญญาณสมาบัติ เราก็ไม่เอา เพราะองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้พระบิดาของพวกเราพระองค์ดำเนินมาก่อนพวกเราแล้ว พระองค์สำเร็จตามที่คณาจารย์ทั้งหลายที่วางหลักเกณฑ์เอาไว้ แต่ความสำเร็จของพระองค์ไม่มี ในอุบายวิธีที่พระองค์ดำเนินอย่างที่พรรณนาสู่ฟังตอนกลางนี้ จึงเป็นไปเพื่อความสำเร็จจึงได้นามว่าสยมภู ได้เป็นศาสดาและผู้พระบิดาของพวกเรา เพราะฉะนั้น การดำเนินหรือเจริญรอยตามยุคลบาทของพระองค์ต้องดำเนินตามรูปดังกล่าวนี้ จึงจะเรียกว่าผู้เจริญรอยตามยุคลบาทของพระองค์ เพราะในอุบายวิธีที่ทำนี้พวกเราก็พอที่จะเข้าใจแล้ว พอทำแล้วได้ผลทีเลย ไม่เสียเวลา เมื่อเรามีสติหรืออริยมัคคุเทศก์ ตัวนำพานี้พอแล้วกิริยาการใดออกของเราไม่มีการคนอง คำพูดไม่คนอง ถึงแม้จะตลกก็ไม่มีอิริยาของกิเลสนำพา อาจจะเป็นเพียงแค่ที่เรียกว่านิสัยของคนไม่เหมือนกัน อาจจะไม่ตลกติดนิด ๆ แล้วก็ทำให้ผู้นั้นมีชีวิตชีวาหรือตื่นเต้นเพลิดเพลิน อะไรเหล่านี้เป็นต้น ก็แล้วแต่นโยบายที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่ด้วยการปราศจากสติ ไม่ใช่โดยที่เรียกว่าไม่พิจารณา เพราะฉะนั้น ในอุบายการดำเนินแล้วเรามองเห็นอานิสงส์ได้ชัดเหลือเกินว่า วันทั้งวันนี่ ก่อนที่เราจะพูดออกมาหรือก่อนที่เราจะทำอะไรแต่ละอย่าง ควรหรือไม่ควรจะประกอบด้วยโทษหรือประกอบด้วยคุณ เราใช้อริยมัคคุเทศก์วิจารณ์ตัดสินความให้แน่นอนหากในเมื่อประกอบด้วยโทษห้ามทันที ในเมื่อจะเป็นไปเพื่อคุณแล้ว พยายามน้อมหรือหักหวัวเข้าทันที เมื่อพวกเรากระทำได้อย่างนี้วันทั้งวัน หากในเมื่อถึงกลางคืนเรานอนแล้วนึกถึงการผ่านมาของเราภายในกลางวันนี้เราไม่มีทางที่จะตำหนิเลย ทุกกิริยาอาการมันไม่น่าเป็น บรรดาบัณฑิตทั้งหลายเห็นต้องชมแน่ เราเองเราก็รู้สึกมีความสบายในกิริยาการแสดงออกของเราว่า ไม่มีบาปไม่เป็นการกระทบกระเทือน คืนอื่น ไม่มีอุบายวิธีที่จะทำให้คนอื่นได้รับความทุากข์ความเดือดร้อนในกิริยาอาการทั้งหมดนั้น ไม่มีในอุบายอย่างนี้แน่ เราก็รู้สึกสบายเพลิดเพลินทำให้จิตใจของเราผ่องใส อันนี้เป็นความอันที่เรียกว่าบรมสุข ไม่มีความสุขแบบกามสุขอมิสสุข เช่น ส่วนความสุขที่ว่า อิ่ม.เบา เย็น แสงสว่าง อะไร เหล่านี้เป็นต้น อันนี้เขาเรียกว่ากามสุข มันเป็นกามารมณ์ชนิดหนึ่ง เพราะถ้าผู้ใดทำสมาธิได้อย่างนั้นผู้นั้นตายในระยะนั้นก็สามารถที่จะเป็นได้เพียงแค่เทพเจ้า มีความเป็นอยู่แบบเทพเจ้า เพราะฉะนั้นเทพเจ้าท่านเรียกว่ากามภพชั้นหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีอารมณ์ความเป็นอยู่แค่นั้นเขาเรียกว่าเสวยอยู่ในกามภพ หรือกามารมณ์ ก็ได้เพียงแค่นั้น เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ใดไม่ติดอยู่ในกามภพ และกามารมณ์นั้น จึงจะเห็นซึ่งบรมสุขที่แท้จริง คือ อะไร ความบริสุทธิ์ใจ ความแน่ใจ ความสบายใจ ความเบาใจ อันปราศจากอาสวะกิเลสตัณหา นำทุกสิ่งทุกอย่างของเราให้เป็นไปตามรูปของมันได้ เราสามารถชนะได้แล้ว ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ในวันหนึ่งข้างหน้าเราจะเปล่งอุทานออกมาว่า ชิตังเม ข้าพเจ้าผู้ชนะแบบที่เรียกว่า กิเลส หรือตัณหา ซึ่งเป็นเจ้านายของข้าพเจ้านำพาทุกสิ่งทุกส่วนของข้าพเจ้าให้เป็นไปตามรูปของมัน ข้าพเจ้าไม่มีอิสระในตัว เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์หรือกิเลสแท้ ๆ ไม่มีกำลังส่วนนีขึ้นมาต่อสู้กระตุ้นหรือว่าทำยุทธวิธีกับกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ จนข้าพเจ้าเป็นไท ได้เปล่งอุทานออกมา อะไรเหล่านี้เป็นต้น พวกเราจะเห็นได้ชัดหรือจะได้เปล่งอุทานออกมา ในวันข้างหน้า ชิตังเม ข้าพเจ้าชนะอันนี้แหละ ก็จะเป็นย่างนั้น เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราผู้เป็นชินบุตร ลูกชายลูกหญิงของพระพุทธเจ้า จงหาอุบายวิธีทำสมาธิจิตนี้ เพื่อเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรแล้วจะได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่อย่างที่พระพุทธเจ้าได้รับนี้ แน่นอน ทีนี้การบำเพ็ญภาวนานี้รู้สึกว่ามันแน่นอนกว่าอย่างอื่น คืออย่างอื่นเราทำบุญให้ทานบริจาคให้จิตของเรานี้ไปเกาะรุนแรงอยู่แล้ว ถึงที่สุดแห่งชีวิตของเรานี้ ไม่สู้จะแน่นักหรอก เพราะว่าอารมณ์อันนำพานี้มันไม่แน่นอน ไม่รู้อารมณ์ชนิดไหนจะนำพาเป็นเบื้องแรกทำให้จิตของเราเผลอไปตามรูปของมัน แต่ถ้ามีอุบายการดำเนินทางด้านสมาธิจิตอยู่ดังกล่าวนี้ จิตของเราจะคิดไปในทางที่ชอบแน่นอน มีแต่มองในแง่ดีทางดี ที่จะปรับปรุงในทางที่ดีทั้งนั้น เช่น เขาด่าเรา ๆ ก็ไม่ได้เอาอารมณ์ด่วนมาหาเรา อะไรเหล่านี้ทั้งหมดหมายความว่าสิ่งที่ไม่ดีสลัดออกมา สิ่งที่ดีนี้จงยึดเอาไว้ เป็นหรือสัญญาลักษณะเครื่องหมายของผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น อันนี้เมื่อถึงที่สุดแห่งชีวิตอารมณ์ของจิตนี้จะได้อะไรกันแน่ มันก็ต้องเป็นอารมณ์ที่ดีหมดจรด อารมณ์ที่สะอาดอารมณ์ที่เยือกที่เย็นเมื่อเราได้อย่างนี้เราจะเป็นอย่างไร อย่างต่ำที่สุดสวรรค์ย่อมเป็นของพวกเราแน่นอน อันนี้ประจักษ์แท้ เพราะฉะนั้นในอุบายวิธีที่แนะทางด้านสัมมาสมาธิเทียบกับมิจฉาสมาธิ เพื่อให้พวกเราผู้เป็นพุทธมามกชน ผู้ประกาศตนแล้วว่าเป็นลูกชายลูกหญิงของพระพุทธเจ้า ให้ได้เข้าใจในอุบายวิธีการดำเนินในทางที่ถูกที่ควร หากในเมื่อลงมือกระทำแล้ว อย่าได้เป็นไปในทางมิจฉาสมาธิให้เป็นไปในทางสัมมาสมาธิ แล้วจะได้ผลอันมีค่า คือ ผลนั้นได้แค่ อริยทรัพย์เช่นอุในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระบิดาและพระอรหันตขีณาสพผู้พี่ซึ่งท่านได้ไปแล้ว พวกเราจะได้สมบัติอันนี้มาเป็นสมบัติของพวกเรา และพวกเราก็จะได้เป็นผู้มีความสุข ไม่เสียทีที่เกิดมาพบปะพระพุทธศาสนา ถึงที่สุด **ไม่อนุญาตให้นำไปเพื่อการค้าหรือจำหน่าย แต่สามารถพิมพ์แจกเป็นธรรมทานได้ |