ทีนี้ส่วนการบำเพ็ญเพียรของพวกเราก็คงจะเข้าใจกันพอสมควรเพราะว่าแนะนำเสี่ยมสอนกันอยู่เสมอ
แต่สำหรับการได้ยินได้ฟังมานั้น มันก็อาจจะแตกต่างกันบ้างหลายครูหลายอาจารย์หลายแบบหลายอย่าง
เพราะนโยบายการบำเพ็ญนั้นรู้สึกว่าจะแตกต่างกันบ้าง เพราะการทำสมาธิจิตนี้
ไม่ใช่ทำกันมาตอนพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญพุทธแล้ว มีการบำเพ็ญสมาธิจิตกันมาจากตอนนั้นก็หาใช่ไม่
เพราะด้านสมาธิสมาบัตินี้รู้สึกว่าจะมีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิดเสียอีกด้วยซ้ำไป
อันนี้พวกเราคงเข้าใจดี แม้แต่พระพุทธเจ้าของเรายุคสมัยก่อนการศึกษาศิลปวิชาการต่าง
ๆ เท่าที่พวกเราได้ทราบก็รู้สึกว่าจะศึกษาจากบรรดาครูอาจารย์ที่เอียงมาทางด้านศาสนา
ส่วนมากมักจะเป็นอย่างนั้น
ยุคหลังจนกระทั่งสิทธัทถะกุมารเบื่อความเป็นอยู่ในโลก
และเหตุการณ์ของโลกที่แสดงอยู่ พร้อมทั้งข้าศึกที่แสดงอยู่ พร้อมทั้งหมู่ญาติทั้งสองจะเกิดการรบราฆ่าฟันกัน
สารพัดนานับประการ ท่านก็มีความเบื่อเป็นกำลัง จึงเป็นเหตุให้ท่านทรงออกผนวชบวชแล้วแสวงหาโมกขธรรม
ท่านก็ไปตามครูอาจารย์ที่ท่านเคยศึกษามาก่อนเหมือนกัน ไปตามครูอาจารย์ที่ผ่านเคยศึกษามาก่อน
แต่บรรดาครูอาจารย์เหล่านั้นที่ท่านเฟ้นหาก็ล้วนแต่เป็นครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียง
ในระหว่าง ๖ปี ๖ พรรษา นั้นก็รู้สึกว่าท่านพยายามศึกษาลัทธิไตรเพทต่าง
ๆ จนสำเร็จแต่ละไตรเพท แต่ละลัทธิ แต่ละเจ้าลัทธิก็สมมุติให้ท่านเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น
แต่ตัวของพระองค์เองไม่ยอมรับว่าพระองค์เป็นพระอรหันต์ เพราะพระองค์ได้รู้พระองค์เองได้ดีว่าไม่หมดจดจากกิเลส
กิเลสยังมีอยู่ จึงเป็นเหตุให้พระองค์ไม่นิ่งนอนใจ จึงแสวงหาต่อไปจากครูอื่นอาจารย์อื่น
ล้วนแต่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งนั้น พอท่านจบไตรเพท ครูอาจารย์นั้นก็ให้ท่านเป็นพระอรหันต์อีกเช่นกัน
แต่ตัวของพระองค์เองก็ไม่ยอมรับว่าพระองค์เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องหาครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่ชาวโลกเขาเชื่อถือว่าเป็นอริยะบุคคลชั้นสูงต่อไป
เฟ้นหาอยู่ ๖ ปี ล้วนแต่อาจารย์ที่ดัง ๆ ทั้งนั้น ๖ ปี แต่ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อความสำเร็จเป็นสยัมภู
ต่อมาเพื่อพระองค์ได้ออกปฏิบัติโดยลำพังดำเนินตามปฏิปทาที่พระองค์เข้าใจว่า
อันนี้คืออุบายวิธีทรมานต่าง ๆ เป็นการทรมานกาย เช่น การตากแดด ย่างไฟ
หรือชำระกิเลสไฟ นอนฝาก นอนหนาม กินขี้วัวขี้ควาย อาจจะฝังตัวให้ดินมันดูดกิเลส
สารพัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไปทั้งหมด ไม่ใช่อุบายที่จะกำจัดกิเลสได้ ส่วนกิเลสพระองค์เข้าใจว่าอยู่ที่จิตใจ
เรื่องภพจิต อยู่ที่จิตใจ เรื่องกิเลสอยู่ที่จิตใจ ความรู้สึกของจิตใจมีรูปลักษณะเป็นกิเลส
เป็นอย่างไรพระองค์รู้ รู้แล้วว่าความรู้ของจิตคือตัวธาตุรู้ มันรู้ยังไงเรียกว่ากิเลส
ธาตุรู้คือจิตที่รู้มันรู้ยังไงเรียกว่าธาตุ พระองค์เข้าใจอันนี้ จึงได้หวนมาหาปฏิปทาข้อปฏิบัติอย่างที่ปรารภสู่ฟังในวันนั้นว่า
พระองค์จับจิตของพระองค์ยังไง อย่างที่เล่าถวายไปแล้วนั้นว่า “จิตใจไม่ใช่วัตถุ”
ถ้าเป็นวัตถุเราสามารถหยิบด้วยมือของเราเอามาวางได้ เช่น ถ้วยเป็นวัตถุอันหนึ่ง
มือก็คือวัตถุอันหนึ่ง ก็สามารถหยิบมาวางได้
แต่สำหรับจิตใจไม่ใช่วัตถุ
จิตใจเป็นเพียงแต่ธาตุรู้ อย่างที่เรารู้นี่แหละครับ…. เรารู้ดีชั่ว ชอบไม่ชอบ
โกรธเคือง ชอบ รัก อะไรต่าง ๆ ซึ่งมีความรู้นั่นแหละครับ
จิตเป็นตัวผู้รู้
คือ ธาตุรู้ตัวนั่นแหละ ธาตุรู้ตัวนั่นแหละครับคือตัวของเราแท้
สังขารที่นั่งเติ่งเมิ่งดูกันอยู่นี่ ไม่ใช่ตัวของเรานะครับ อย่าไปเข้าใจว่าเป็นตัวของเรานะครับ
อันนี้เป็นเพียงแค่ธาตุขันธ์ประชุมกันอยู่ปัจจุบันชาติ ซึ่งตัวเราคือธาตุรู้เข้ามาอาศัยอยู่เท่านั้น
ร่างกายสังขารซึ่งนั่งอยู่นี้เป็นยานพาหนะ หรือเครื่องมือของเรา หมายความว่าเครื่องมือหรือยานพาหนะของจิตเท่านั้น
ในเมื่อจิตคือธาตุรู้ต้องการสิ่งหนึ่งประการใดแล้วจะต้องบังคับร่างกาย
ซึ่งเป็นยานพาหนะ คือ เครื่องมือของเขาประกอบในสิ่งที่เขาต้องการเท่านั้น
อันนี้เป็นสิ่งชั่วครู่ เดี๋ยวธาตุโลกของเขาก็ต้องสลายไปตามกำลังของธาตุโลก
แต่ตัวธาตุรู้คือจิตใจไม่ตายนะครับ ไม่สลาย จะต้องไปก่อภพตามกำลังของกรรมต่อไป
…ตัวธาตุรู้นั่นแหละครับคือตัวเรา…
แล้วพระพุทธเจ้ามาหาอุบายวิธีที่จะจับจิต
จะจับจิตนี่นะตั้งให้เป็นสมาธิ พระองค์จึงคิดหาวิธีทำ อุบายที่จะจับจิตของพระพุทธเจ้าก็อย่างที่ผมปรารภในวันนั้นว่า
อาศัยสตินะครับ สติครับ… เพราะจิตนี่มันเป็นธาตุรู้ สติคือเป็นความระลึกรู้
เราอยู่ตรงไหน มีสติอยู่ตรงไหน จิตจะอยู่ตรงนั้นพร้อมกัน เหมือนตัวเราไปที่ไหนเงาเราก็ต้องไปที่นั่น
เราไปตรงไหนเงาไปตรงนั้น เงากับเราต้องตามกันฉันใด สติกับจิตก็คืออันเดียวกัน
เราระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้ออก เรารับรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จิตของเราก็ต้องอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก
เมื่อเราเผลอปุ๊บ สติไม่ได้เกาะอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ไปต่ออารมณ์สัญญาภายนอก
จิตก็ต้องไปต่ออารมณ์สัญญาภายนอกตามกับสติ เพราเขามันคู่กัน เพราะฉะนั้นเราต้องจับจิตของเราด้วยสติ
เอามารับรู้ที่ลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก
ทำไมถึงต้องมาเอาลมหายใจเข้าออกนี่เป็นนิมิตเครื่องหมาย
พระพุทธเจ้าพระบรมครู ผู้พระบิดาของพวกเราสำเร็จด้วยการกำหนด อานาปา แต่เราอย่าไปคิดว่าเรื่องจริตเป็นของสำคัญ
เรื่องจริตเอาเถอะครับอย่าไปคิด บางคนว่าเรามีจริตอย่างโน้นมีจริตอย่างนี้
จะต้องไปคู่กับกรรมฐานชนิดโน้น มีจริตอย่างนี้ จะต้องไปถูกกับกรรมฐานชนิดนี้
อันนี้เราเลิกคิดได้ครับ เรื่องตำราปิดเสียก่อน ครับเรื่องตำราอย่ามาพูดถึงกัน
อันนั้นเราอย่ามาพูดอันนั้นเป็นอีกคนละเรื่องเลย คนละอย่าง เพราะฉะนั้นขอให้ถือว่า
“อานาปานัสสติ” นี่เป็นกรรมฐานแบบสาธารณะครับ ดีมากครับ ขอให้พยามยามทำเถอะครับ
อย่าไปคิดเรื่องจริต ให้กำหนดลมหายใจเข้าออก
หายใจเข้ามีบริกรรมมรรคภาวนาว่า
พุธ นะครับ หายใจออกมีคำบริกรรมมรรคภาวนาว่า โธ จึงได้ความว่า
พุทโธ, พุทโธ, พุทโธ, หายใจเข้านึกพุทธหายใจออกนึกว่าโธ
ถ้าไม่พุทไม่โธไม่ได้หรือ…..ได้ครับได้เหมือนกัน
แต่ทำไมถึงพุท ถึงโธหละ เอาเถอะครับพระนามของพระพุทธเจ้า พุทโธ แปลว่าผู้รู้ผู้เบิกบาน
เป็นพระนามอันหนึ่งของพระพุทธเจ้าพ่อเรา เอาพระนามของพระพุทธเจ้ามาบริกรรมเป็นมงคลดีครับ
เหมาะมากครับ ผมชอบที่สุดครับ ขอให้พวกเรานึกอย่างนั้นเถอะครับ
เพราะฉะนั้น
เอาคำว่า พุทโธ พุทโธ นี่มาเป็นคำบริกรรมมรรคภาวนา บางคนอาจจะบอกว่า
มันขัดกับจริตเพราะจริตของผมอย่างโน้น อย่างนี้ ผมบอกแล้วไงครับว่าทิ้งเสียก่อนครับ
ไอ้เรื่องตำราเรื่องจริตทิ้งไป
อย่าเอามาพูดกัน เรามุ่งหน้ามุมานะจะเอาให้ได้อย่างเดียว อะไรไม่สน จริตไม่เกี่ยวเรามุมานะจะเอาอย่างเดียว
เพราะฉะนั้นให้เรากำหนดลมหายใจเข้า กำหนดลมหายใจออก มีคำบริกรรมมรรคภาวนาประกอบ
หมายถึงเอาพุทกับโธ ไม่ออกเสียงนึกในใจ นึกพุทโธ พุทโธ มีสติจับจิตของเราให้รับรู้อยู่ที่ปลายจมูก
แต่ไม่ใช่เพ่งนะครับ ไม่ใช่กดดันนะครับ ไม่ใช่เพ่งให้รับรู้เฉย ๆ รับรู้ลมหายใจเข้าออกเฉย
ๆ กำหนดรู้อยู่นั่นแหละครับ แต่ลมหายใจเข้าออกอย่างแต่งนะครับ ปล่อยธรรมชาติ
ปล่อยธรรมดา ๆ แล้วกำหนดรู้ พุทโธ พุทโธ เฉย ๆ อย่าไปเก็ง อย่างไปดัน อย่างไปเพ่ง
อย่าไปกด อย่าไปสะกด รับรู้เฉย ๆ เราจะรู้ได้ถ้าเราไม่มีการเพ่งหรือสกดตัวเอง
มันจะสบายครับ โปร่ง โล่ง ธรรมดา ๆ ถ้าเราทำผิดจะอึดอัดครับ รู้สึกหายใจไม่สะดวก
คอแห้ง หรือมีน้ำลายไหลออกมา หรืออาจจะมึนงงศรีษะ อึดอัดในหัวใจ อะไรเหล่านี้เป็นต้น
สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเรียกว่าวิปริต ความวิปริตทั้งหลายเกิดขึ้น
นั่นคือเราอาจจะไปสะกดตัวเอง
เราก็กำหนดใหม่ กำหนดเพียงแค่รับรุ้เฉย ๆ จะไม่มีอาการอะไรเกิดขึ้นเลยนะครับ
อันนี้ถูกครับ ทีนี้เราก็นั่งกำหนดอยู่นั่นแหละครับ นั่งกำหนด พุทโธ พุทโธ
จนสามารถบังคับความรู้สึกของเราให้รับรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าอกอยู่ที่ปลายจมูก
ไม่มีโอกาสใดที่จิตของเราจะหนีหน้าสติ หรือสติพาจิตของเราไปต่ออารมณ์สัญญาภายนอกได้แล้วครับ
อยู่ในจุดที่เราต้องการ แจ๋ว ๆ อยู่ตลอดเวลานะครับ ทำได้อยู่ตลอดเวลาแจ๋วตลอดเวลาครับ
ถือว่าตปธรรม อำนาจที่สร้างขึ้นมาเหนือจิตแล้วนะครับ คุมให้อยู่กับความต้องการของเราได้แล้ว
ถ้าคุมได้แล้วนะครับ ทดสอบทดลองได้หลายอย่างนะครับ เวลาเรานอนหรือจำวัดนะครับ
นอนสีหไสยาสห์ เอามือขวาสอดเข้าไปใต้แก้ม เอามือซ้ายวางราบไปตามตัว เอาเท้าเหยียดไปนะครับ
อย่าให้ตึงนัก อย่าหย่อนนักเท้าเหลื่อมเท่ากันพอดี ๆ กำหนลมหายใจเข้าออกเช่นกัน
พุทโธ พุทโธ “นึกว่าไม่หลับนะครับคืนนี้ สติไม่ขาดครับ รับรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกแจ๋วอยู่ตลอดเวลา
ตลอดคืนปรากฏว่าไม่หลับ แต่พอลุกขึ้นมาไม่งง ไม่มึนงงศรีษะนะครับ ไม่ซึมเซา
เปรียบเหมือนเรานอนหลับทั้งคืนแหละครับ นั้นถูกต้อง ถูกต้องแน่ ๆ ครับ
ต่อจากนั้นไปนะครับในเมื่อมันสมบูรณ์ดีแล้วทุกอย่างนะครับ เราไม่ต้องเอาไปใช้กับคนอื่นหรอกครับ
ผีเทวดาเราไม่ต้องรู้ครับ เพชรพลอยอยู่ตรงไหน ไม่ต้องไปมองนะครับ อะไร
ๆ ก็แล้วแต่ในทางที่เป็นอภิญญาณสมาบัติเราไม่สน เราไม่เอา เรามุ่งหวังที่จะเอามาปรับปรุงตัวของเราให้ปราศจากคำที่ว่า
บาป ปราศจากริยาที่ไม่เหมาะสมของความเป็นลูกของพระตถาคตเจ้า เราต้องเอามาจากส่วนนี้ทั้งหมดมาประกอบกับกายวาจา
เราจะลุกขึ้นนั่งลงต้องนึกถึงเพศ วัย ฐานะของตัวเอง ลุกขึ้นแบบไหนถึงจะเหมาะกับเพศ
เราเป็นสมณะเพศ ลุกแบบไหนจะเหมาะกับวัยของเรา เราอยู่ในวัยเช่นไร ฐานะเช่นไร
การลึกซึ้งต้องเป็นปกติอย่างเดิม วันนี้เราลุกแบบนี้แบบนั้นต้องอยู่ในลักษณะนั้นอยู่เสมอไป
ไม่ลุกขึ้นโดยปราศจากสติสัมปชัญยะ ไม่มีการลุกขึ้นโดยขาดการกลั่นกรอง ต้องพิจารณาแล้ว
ต้องพิจารณาแล้วญัตติเข้ากับคำว่าเหมาะสมกับเพศของพวกเราแล้วจึงได้ลุกขึ้น
ทุกกิริยาอาการที่เคลื่อนไหว แม้แต่จะหยิบของวางของ จะมองซ้ายจะแลขวา ไม่เป็นไปเพื่อความปราศจากสติ
เหมือนเสียว่าสติจับแต่งเอาเสียหมดทุกกิริยาอาการเสียเลย เป็นอย่างนั้นนะครับ
ต่อจากนั้นวาจาที่เปล่งออกมาเราก็ต้องนึกถึงเพศ วัย ฐานะ และความเป็นสมณะเพศ
นึกถึงศีลธรรม คำที่พูด การแสดงออกเป็นไปเพื่อความกระทบกระเทือน ก่อความเศร้าหมองให้กับผู้อื่นหรือไม่
เราต้องทบทวนกลั่นกรองพิจารณาเสียก่อนนะครับ ให้เรียบร้อยอย่าให้เป็นไปด้วยการปราศจากสติสัมปชัญยะ
ปราศจากคุณธรรมที่สร้างขึ้นมา ต้องอาศัยเครื่องเหล่านี้เป็นเหมือนหม้อกรองกลั่นแล้วนะครับ
แล้วถึงค่อยปล่อยกิริยาก็ดี กายหรือวาจาก็ดี ในเมื่อเราปรับปรุงสมบูรณ์แล้ว
ความรู้สึกทางด้านจิต เราไปประสบสิ่งที่น่ารัก สิ่งที่น่าใคร่ ประสบถึงสิ่งที่น่าเกลียดโกรธทั้งปวง
กิริยาเกิดขึ้นมาแล้วต้องหักห้าม อันนี้ไม่ควร อันนี้ไม่ถูก พระพุทธเจ้าพ่อของเรามีจิตใจเหมือนคนอื่น
มีคำว่ารัก ชัง เอนเอียงไปทางรัก ถือว่าเป็นกามสุขันธ์นุโยค เอนเอียงไปในทางชัง
เรียกว่าอัตถะสุขานุโยค มัฌฌิมาปฏิปทาธรรมนั้น หมายถึงใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปทั้งสองข้าง
อาการที่แสดงขึ้นทั้งหมดเราจะมองเห็นว่า “เขาเป็นบุคคลที่อ่อนต่อกิเลส
กิเลสเหนือกว่าเขา” จึงสามารถจัดทุกกิริยาอาการของเขาให้แสดงอาการอย่างนั้นต่อเรา
“เขาเป็นผู้ที่มีอำนาจอยู่ใต้กิเลส” เราเหนือกิเลสเราไม่ควรที่จะต้องไปโกรธเกลียดบุคคลที่ยังอ่อนอยู่
หมายความว่าแก่ก็ชั่งเถอะ แต่ยังอ่อนด้วยธรรมะ เปรียบเหมือนเด็กอ่อนที่นอนอยู่ที่ตักเราเขาจะเยี่ยวรดขี้รด
ก็ถือวาเขาไม่รู้เดียงสา เขาทำไปโดยไม่รู้เดียงสา แล้วจะโกรธจับตัวเขาหาว่าเขาขี้รดไม่ได้
เพราะเด็กมันยังอ่อน แล้วเด็กมันเตะเราก็ดี ตบเราก็ดี เด็กอ่อนไม่รู้เดียงสา
เราจะถือว่า เอ๊ะ..มึงตบปากกูนี่จับโยนเสียเลย ไม่ได้ เพราะเด็กไม่รู้เดียงสา
แต่จนหลังค่อมก็ตามถือว่าเด็กอ่อนในธรรมะ หมายความว่าอ่อนในธรรมะ กิเลสบังคับให้เขาแสดงต่อเราในทางที่มีกิเลสบัญชา
เราก็ให้อภัยเขา เหมือนเด็กอ่อนที่อยู่ในตักเราอย่างนี้แหละครับ เราก็หาอุบายวิธีกว้าง
ๆ หาวิธีเอาไว้แก้ไขกันอย่างนี้แหละครับ ทางด้านกาย ทางด้านวาจา ทางด้านใจ
ด้วยนะครับ ให้เป็นอย่างนี้เสมอ ๆ ผลที่สุดอำนาจแห่งกิเลสที่จะบัญชาขึ้นมานั้น
จะไม่มีโอกาสมาบัญชาเราได้เลย ระบบกิเลสไม่ต้อยคุยกันนะครับ ถ้าเราทำได้อย่างนี้นะครับ
เราไม่ต้องพูดอะไรมากครับ คำที่ว่า สัมมาสมาธิ สมาธิที่สมบูรณ์ที่ต้องที่ควรนั้นไม่ต้องพูดถึง
และเรื่องสมาธินี้ เรื่องฤทธิ์เรื่องเดชเรื่องการรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่ต้องมาพูดถึงครับ
สมาธิเช่นนั้นเกิดมาก่อนพระพุทธเจ้าเสียด้วยซ้ำไปครับเกิดมาก่อน อันนั้นไม่เห็นน่าจำเป็นอะไรสำหรับพวกเรา
พวกเราจำเป็นจะต้องดำเนินในทางที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เรียกว่า โลกุตระ
สายของโลกุตระครับ เพราะฉะนั้นขอพวกเราผู้ปฏิบัติทั้งหลายจงพยายามศึกษา
แล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติกัน ขอให้ตั้งใจกัน ตลอดพระใหม่เณรใหม่ก็อย่าเสียอกเสียใจว่าผม
ไม่ได้คลุกคลีตีโมงไม่ได้พูดไม่ได้คุย ไม่ได้ให้ความอบอุ่นเท่าที่ควร อันนี้อย่าเสียใจครับ
เพราะภาระหน้าที่ของแต่ละท่านมีมาก ไม่จำเป็นอะไรที่เราจะต้องมาป้อยอกัน
เพราะไม่ใช่เด็กอ่อน เป็นผู้มีอายุกาลผ่านมาแล้วขนาดนี้ ไม่ใช่เด็กครับ
ผมเองถูกพระนวกะต่อว่าอยู่ชุดหนึ่งว่า “ผมบวชอยู่ ณ ที่นี้ไม่ได้รับความอบอุ่นเลย
ครูบาอาจารย์ไม่ให้ความอบอุ่นกับผม หมู่คณะไม่ให้ความอบอุ่นกับผม หมู่คณะไม่ได้อุปการะหรือเกี่ยวข้องให้ผมได้รับความสะดวกสบายเลย”
ประนามใหญ่ตัวครับ ผมก็บอกว่าเราเป็นสมณะไม่มีโอกาสที่จะมาคลุกคลีกันแล้ว
เพราะพระพุทธเจ้าพ่อของเราไม่สอน พ่อของเราสอนให้บำเพ็ญ พ่อของเราสอนให้เข้าไปอยู่ในที่สงัดสงบไม่ให้คลุกคลีซึ่งกันและกัน
และโอกาสที่เราจะมาวุ่นวายอย่างนั้นไม่มีแล้ว คุณอย่าเข้าใจผิดซี่ เขาก็ไม่เชื่อไม่ฟัง
เขาว่าเขาไม่ได้รับ……ต่อว่าต่อขาน ผมก็ยมอมรับครับ ว่าผมไม่ให้ความอบอุ่นอย่างนั้น
แต่ผมก็ให้ความอบอุ่นที่สุด คือ ให้ธรรมะ ผมมีเมตตาอารีจิตของผมนี่ หรือแผ่ต่อหมู่คณะทุกท่านไม่ว่าพระใหญ่
ไม่ว่าพระเก่า ว่าแม่ขาวแม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรมโดยทั่วถึงกัน ผมจะต้องมีเมตตาอารีส่งเสริมอยู่เสมอในทางนี้
ตลอดธรรมปฏิบัติผมก็สอน แต่จะให้ผมสอนทุกวี่ทุกวันนั้นไม่ได้ครับ มันไม่จำเป็นนี่ครับ
ศึกษาเพื่อปฏิบัติศึกษานิดเดียวก็เข้าใจแล้ว ถ้าเราเรียนเพื่อคุยนะครับ
อันนั้นจำเป็นจะต้องสอนอะไรอย่างนี้ เขาต้องสอนอะไรต่ออะไรสารพัดสาระเพ
พันจิปาถะ บางทีเขาถามปัญหามาอย่างนี้ จะตอบอย่างไร อะไรต่ออะไร อย่างนี้เขาต้องสอนเพื่อจริงจัง
เหมือนกับทางด้านปริยัติที่เขาสอนกันอยู่ เราจะดูได้ เช่นอย่างเขาสอนกันทางด้านอภิธรรมนี้
ไปดูซิครับ เขาสอนกันเพื่อจะให้พูดเก่ง เพื่อจะให้คุยเก่ง คุยจูงใจคน อะไรทำนองนั้น
แต่แล้วทั้งหมดคุณธรรมไม่มีในตัวของตัวเองนะครับ เหมือนนกสาริกาพูดภาษามนุษย์ได้ชัดนะครับ
หัวเราะเสีย โอ้โหหัวเราะเหมือนสนุกสนาน แต่แท้ที่จริงนะครับ มันไม่ได้เข้าใจนะครับ
ที่มันทำนั่นหมายความว่าอย่างไร จามก็เป็นนะครับ ไอก็เป็น นกสาริกามันทำของมันเข้าท่า
แต่มันรู้หรือเปล่าว่าจามมันเป็นอย่างไร ไอมันเป็นอย่างไร คนเขาจามเขาไอ
ทำไมเขาถึงจามถึงไอ มันไม่เข้าใจหรอกครับ มันได้ยินมันก็ว่าไปตามเสียงเฉย
ๆ
ฉันใดผู้ที่ศึกษาเพื่อคุยเพื่อพูด
ก็พอ ๆ กับนกสาริกาพูดภาษามนุษย์ ไม่ได้ซึ้งในธรรมะไม่ได้เข้าใจในธรรมะหรอกครับ
พูดกันลอย ๆ โดยจำขี้ปากเขามาพูดเฉย ๆ ครับ รู้โดยสัญญาไม่ได้รู้โดยด้วยปัญญา
ถ้าเราทำสมาธิกัน ดังที่ผมกล่าวมานี้นะครับ สามารถครอบคลุมจิตของตัวเองได้ดังกล่าว
ปรับปรุงการเคลื่อนไหวของกาย วาจา พร้อมทั้งจิตใจดังกล่าวนะครับ ความสุขอันเรียกว่าบรมสุขจะปรากฎขึ้นมาก
ความเข้าใจในสภาวะธรรม ความเป็นจริงของโลกถูกต้อง เกิดนิพพิทาวิราคะ ต่อความเกิด
เบื่อหน่ายท้อแท้ ขยะแขยง ไม่ยากเกินต่อไปแล้วครับ เพราะเกิดมานั่งรอวันตาย
ดังอธิบายสู่ฟังมาก็ยืดยาวพอสมควรแล้ว จึงขอยุติเพียงแค่นี้
วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๒
ณ ศาลาการเปรียญ วัดเขาสุกิม